สมาคมธนาคารไทยแจงที่มาผลประกอบการแบงก์ 2.2 แสนล้าน แต่ ROA ต่ำมาก ชี้ไม่กดดันแบงก์รัฐนำร่องลดดอกเบี้ย
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงประเด็นที่เป็นกระแสสังคมเรื่องผลประกอบการของธุรกิจธนาคารไทยปี 2566 ที่มากถึง 2.2 แสนล้านว่า จากที่ได้หารือกันในผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทราบว่า ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรสูงมาก ตัวอย่างเช่นการที่จะมีสินทรัพย์เข้าไปในการดำเนินการ หากเป็นบริษัทจดทะเบียนต่างๆ สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 2 :1 หรือ 3.25 : 1 ขณะที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจ nonbank ต้องใช้ทสินทรัพย์ขนาดใหญ่ถึง 8.5 เท่า ฉะนั้นจึงทำให้ฐานของสินทรัพย์ใหญ่
ทั้งนี้สะท้อนไปยังคำถามที่ว่า ทำไมขนาดของผลประกอบการธุรกิจธนาคารจึงใหญ่ถึง 2 แสนล้าน ซึ่ง 2 แสนล้านเกิดจาก 8 เท่าของการที่ไปลงทุนเมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป รวมถึงยังมีต้นทุนดิจิทัลในเรื่องการโอนเงินพร้อมเพย์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียม ขณะที่ในต่างประเทศคิดค่าธรรมเนียมทั้งหมด และยังต้องบริหารจัดการเงินสด และจะเห็นว่าในช่วงดอกเบี้ยขึ้นมีการไหลออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันกระบวนการใช้ทรัพยากร แม้ว่าจะเป็นระบบที่ใหญ่กว่า แต่ประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ industrial center สามารถดูตัวเลขได้จากตลาดหลักทรัพย์ ถ้าดู ROA (Return on asset หรืออัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทั้งหมด) จะเห็นว่ามีอยู่เพียง 1% เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางที่มีปัญหา แม้จะหมดมาตรการไปแล้วสิ้นปี 2566 โดยมียอดหนี้รับการดูแลในธนาคารพาณิชย์ 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.5 ล้านบัญชี
ขณะที่การที่ธนาคารรัฐนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ส่วนตัวมองว่า ไม่ได้เป็นการกดดันธนาคารอื่นๆให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม แต่มองว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกในการปรับผันทรัพยากรในระบบให้ตรงจุดเป้าหมาย ซึ่งทางรัฐบาลได้เข้ามาดูแล ผลที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารจะมีเงินส่งรัฐน้อยลง แต่ธนาคารเอกชนต้องดูแลตัวเอง ตอนนี้ยังต้องรับผิดชอบจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งเหลืออยู่อีก 6 แสนล้านบาท จึงต้องระวังไม่ให้ตัวเองเป็นภาระของระบบ ดังนั้นต้องดูแลความสมดุล
#ดอกเบี้ย #สมาคมธนาคารไทย #ธนาคาร