กกร.คงคาดการณ์จีดีพีปี 67 โต 2.8-3.3% ไม่รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต หั่นเงินเฟ้อเหลือ 1.2% จาก 2.2%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 2.8-3.3% โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Receipt และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 33- 34 ล้านคน ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่งผลให้ประมาณการเงินเฟ้อปรับลดลง เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาได้นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกดดันต้นทุนการผลิต
ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติลง รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศปีนี้ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐฯ ปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว และทำให้ ต้องติดตามผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรป ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ที่ประชุม กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ ประกอบการในระดับกลางและระดับล่าง ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยในระหว่างรองบประมาณ ปี 67 ภาคเอกชนเห็นว่าควรจัดทำมาตรการ เสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรมีการหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงาน มีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง
นอกจากนี้ที่ประชุม กกร.เห็นว่าควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือเงินได้มาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุ ประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้ สำหรับหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อ และเอาหนี้นอกระบบทางการค้าเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูงได้ พร้อมมองว่า ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว ในระยะข้างหน้าดอกเบี้ยควรปรับทิศทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีแนวโน้ม ลดลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ
ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวนโดยมีแนวโน้ม ปรับลดลงต่อเนื่องในกรอบ 0.7-1.2% สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบันยังมียอดภาระหนี้ที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 6.1 ล้านบัญชี และตั้งแต่สถานการณ์โควิดมีต้นทุนทาง เครดิตที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 6% ของสินเชื่อ และสถาบันการเงินจะยังคงให้ ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ประชุม กกร.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของ เศรษฐกิจไทย จึงเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประการที่อยากให้รัฐบาลขับเคลื่อนในปี 2567 ดังนี้ 1) สานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 6 ด้านที่ กกร.เคยเสนอ ได้แก่ 1. Competitiveness 2. Ease of Doing Business 3. Digital Transformation 4. Human Development 5. SME 6. Sustainability เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปี และ/หรือมีศักยภาพลดลง สะท้อนจากมุมมองนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อศักยภาพ และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจไทย จาก Price to book ratio ของธุรกิจใน SET100 ปรับลดลงในปี 2566 ขณะ ที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มี Price to book ratio อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่ายาวนาน ดังนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เช่น ด้าน Competitiveness ควรเร่งเจรจาข้อตกลงทางการ ค้า FTA ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้าน Ease of Doing Business ควรปฏิรูป กฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น
2) ผันเศรษฐกิจนอกระบบมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่เกินไป เป็นต้นตอของหลายปัญหา โดยมีขนาดใหญ่ถึง 47.6% ต่อจีดีพี สูงกว่าประเทศคู่เทียบและมีแรงงานนอกระบบมากถึง 51% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่ยังขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ขนาดของหนี้นอกระบบที่ข้อมูลทางการระบุว่ามีราว 1 แสนล้านบาท แต่หากประเมินด้วยวิธีอื่นอาจสูงถึงราว 3-4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ IMF พบว่าการมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เข้าไม่ ถึงสินเชื่อในระบบ และมีความเหลื่อมล้ำสูง
3) เร่งเครื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ หลังผลสำรวจพบว่าครัวเรือนมีโอกาสที่จะพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลจึงมาถูกทางเพื่อตัดวงจร หนี้ โดยที่ภาครัฐดำเนินการยึดหลัก market based มีฐานข้อมูลกลางที่เชื่อถือได้ ปฏิรูปข้อมูลหนี้ทั้งในและนอกระบบ เร่งให้สหกรณ์ เข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตแห่งชาติให้ครบถ้วน และทำควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ เพราะพบว่าการเป็นหนี้มีสาเหตุสำคัญจากการมี รายได้ไม่พอรายจ่าย โดยภาคการเงินจะสนับสนุนด้วยการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ส่งเสริมการเข้าถึงการเงินในระบบ และ ยกระดับ financial inclusion ผ่าน Risk based pricing และการใช้ alternative data รวมถึงการใช้ ecosystem ในการเชื่อมโยงรายใหญ่กับรายเล็ก เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากภาคธุรกิจ/ครัวเรือน ให้มุ่งมั่นในการยกระดับผลิตภาพ และสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความตระหนัก รู้ในการรักษา credit culture/discipline และหวงแหน credit score
#กกร #ดอกเบี้ย #เงินเฟ้อ #ค่าเงินบาท #อิสราเอล #หนี้ครัวเรือน