วันที่ 10 มกราคม 2567 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า การจัดทำผังเมืองเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน ต้องอาศัยนักผังเมืองผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้จัดทำร่าง ตนเองแม้จะเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมมา ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องผังเมืองโดยละเอียด จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ การกล่าวว่าผังเมืองดังกล่าวจัดทำเพื่อเอื้อนายทุน เป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก จึงขออย่าใช้คำนี้ เนื่องจากผังเมืองที่ใช้ในปัจจุบันมีการใช้งานมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดสีแดงที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน ไม่ได้เกิดขึ้นในการจัดทำร่างผังเมืองในครั้งนี้ แต่มีการพัฒนากันต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้ กทม.จะมีการเพิ่มเติม แต่นักผังเมืองต้องสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนสีผังเมืองเพิ่มขึ้น

 

นายชัชชาติ ย้ำว่า ผังเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การดูจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งเมือง เช่น การแก้ผังเมืองจุดหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนทั้งกรุงเทพมหานครดีขึ้น ต้องดูภาพรวมทั้งหมด โดยตนได้ให้นโยบายไปว่า อยากเห็นกรุงเทพมหานครที่ผู้คนสามารถอยู่อาศัย ทำงาน และเดินทางได้ เมื่อใดก็ตามที่บ้านกับที่ทำงานอยู่ห่างกัน คุณภาพชีวิตอาจแย่ลงเพราะต้องเดินทางมากขึ้น เช่น เห็นเด็กรุ่นใหม่ ต้องไปอาศัยอยู่นอกวงแหวน เพราะหาที่อยู่อาศัยใกล้กว่านั้นไม่ได้ขณะที่แหล่งงานกระจุกตัวอยู่กลางกรุงเทพฯ ดังนั้น ต้องหาวิธีทำให้คนมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานมากขึ้น หรือให้แหล่งงานไปอยู่ใกล้แหล่งอาศัยมากขึ้น เป็นที่มาของการกำหนดร่างผังเมืองเขตสีแดงอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก มีนบุรีโดยหวังว่าจะมีการสร้างแหล่งงานใกล้บ้านประชาชนเขตนั้น ๆ มากขึ้น รวมถึง การเพิ่มผังเมืองเขตสีส้มย่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เพราะต้องการให้คนอยู่ใกล้แหล่งงานมากขึ้น ไม่ต้องไปอาศัยบริเวณรอบนอกวงแหวน

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ทุกอย่างที่กำหนดในร่างผังเมืองดังกล่าว มีหลักทฤษฎีรองรับ กทม.ยินดีรับฟังด้วยเหตุผล และยินดีขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปถึงปลายเดือน ก.พ.67 ปัจจุบันพยายามเปิดช่องทางแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่ง พ.ร.บ.ร่างผังเมือง กทม. ปี 2562 สภาผู้แทนราษฎรเป็นออกข้อกำหนด มีประมาณ 18-23 ขั้นตอน ปัจจุบันดำเนินการถึงประมาณขั้นตอนที่ 4-5 เท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกไกล สามารถแสดงความคิดเห็น คัดค้าน แจ้งเพิ่มเติมได้ เช่น ไม่พอใจจุดสีแดงที่เพิ่มเติมลงไป หรือจุดใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนมีเห็นผลของตนเอง กทม.ยินดีรับฟังยืนยันว่า ไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุน บางอย่างอาจมีความเข้าใจผิด เช่น เรื่องการกำหนดเขตทาง ซึ่งความเป็นจริงคือ กำหนดไว้เพื่อให้การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ในอนาคต เว้นพื้นที่ไว้สำหรับขยายถนนให้กว้างขึ้น หรือทำให้มีระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น เพื่อให้เมืองดูโล่ง ไม่แออัด โดยนำแนวคิดดังกล่าวมาจากต่างประเทศ เพื่อสามารถขยายทางเท้าได้กว้างขึ้น ซึ่งการจะสร้างตึกอาคารในอนาคต จึงต้องคำนึงถึงระยะเว้นห่างตามที่กำหนดไว้

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจของ พ.ร.บ.ผังเมือง ปี 2562 คือ เมื่อกระบวนการร่างผังเมืองดำเนินการแล้วเสร็จผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมต่าง ๆ จนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว มีการกำหนดให้ภาคท้องถิ่นนำไปออกข้อบัญญัติเพื่อประกาศใช้ผังเมือง ดังนั้น ระหว่างออกข้อบัญญัติผ่านสภากรุงเทพมหานคร หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจึงสงสัยว่า จะต้องย้อนกลับไปสู่กระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจ กทม. จึงขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้องศึกษาอ่านรายละเอียด พ.ร.บ.ผังเมือง ปี 2562 ให้ชัดเจน เพื่อจะพบปัญหาที่ยังมีอยู่ ก่อนนำไปสู่กระบวนการออกข้อบัญญัติประกาศใช้โดยสภากรุงเทพมหานคร จะได้ไม่ต้องย้อนกระบวนการกลับไปเริ่มต้นแก้ไขกันใหม่

 

“ผังเมืองที่เห็นในวันนี้ มีการทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2542 โดยเฉพาะจุดสีแดง และปัญหาหลายจุดที่มีมาต่อเนื่องกันกทม.พยายามทำให้เหมาะสมสภาพปัจจุบันมากขึ้น หากไม่ถูกใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ กทม.ยินดีรับฟัง แต่ขออย่าใช้คำว่า ผังเมืองเอื้อนายทุน เพราะผู้ที่มีบุญคุณกับเราคือประชาชน ไม่ใช่นายทุน เราอยู่ตรงนี้ได้เพราะประชาชนเลือกมา เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว