จากกรณีมีกระแสการกดดันจากธนาคารพาณิชย์มีกำไรรวมกันกว่า 2.2แสนล้านบาทในปี 2566ทั้งที่เศรษฐกิจไทยและธุรกิจเอสเอ็มอียังย่ำแย่ จึงมีการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ลดดอกเบี้ยไม่ให้ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบประชาชนมากจนเกินไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (10ม.ค.2568) นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกัน และในฐานะอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA)ได้โพสต์ข้อความว่า ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่ลดดอกเบี้ย

ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิด ผมมีความเห็นว่าแบงค์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ย เพียงแต่ดอกเบี้ยที่ขึ้นนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินกู้ แต่เป็นดอกเบี้ยเงินฝาก

เหตุผลก็คือ ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเกินไป ต่ำจนไม่จูงใจให้ประชาชนออมเงิน นำไปสู่การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เสียวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เสพติดการบริโภคก่อนแล้วผ่อนทีหลัง ซึ่งจะเป็นปัญหาของประเทศชาติในอนาคต

ปัจจุบัน ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ห่างกันมาก จนทำให้ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีกำไรมหาศาลกว่า 200,000 ล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ

การที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้แคบลง มีอยู่สองทางคือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือไม่ก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 

การลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นการช่วยผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ค่อนข้างมีฐานะ ขณะที่การเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากเป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะคนสูงอายุ ที่อาศัยดอกเบี้ยจากเงินเก็บของตัวเองเพื่อการยังชีพ 

และถ้าพูดกันอย่างเป็นธรรม ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร หรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนต่างๆที่สูงมากในช่วงนี้ เกิดจากการที่เศรษฐกิจในความรับผิดชอบของรัฐบาลยังไม่ดี แถมรัฐบาลยังสร้างเงื่อนไขใหม่ จะแจกเงินดิจิตอลถึง 500,000 ล้านบาท จึงทำให้เงินลงทุนไหลออก เพราะกลัวเศรษฐกิจในระยะยาวจะซบเหมือนกับประเทศประชานิยมอื่นๆ นำไปสู่ภาวะเงินตึงตัว ดอกเบี้ยขึ้นไปรอล่วงหน้าแล้ว

ดังนั้น จึงมีคนส่วนหนึ่งมองว่า รัฐบาลกำลังสร้างภาพ โยนปัญหาดอกเบี้ยสูงให้ธปท. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง

(หากจะมีใครแย้งว่า การลดดอกเบี้ยจะช่วยประชาชนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือเงินกู้ส่วนบุคคลที่สูงมากในตอนนี้ ผมอยากจะบอกว่า ดอกเบี้ยเหล่านี้มันสูงผิดปกติมายาวนาน สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารถึง 2 เท่า  ธปท.ต้องไปกำกับดูแล ให้ลดลงเพื่อให้สมเหตุสมผลกว่านี้)

ส่วนการที่มีคนเสนอว่าธปท.ควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพื่อดึงให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลดลงนั้น ผมมีความเห็นว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาในช่วงนี้น่าจะทำได้ยาก 

เหตุผลคือ ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย ลดดอกเบี้ยอ้างอิงของไทยให้ห่างจากดอกเบี้ยอ้างอิงของต่างประเทศมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า

คงจำได้ว่าตอนที่ ธนาคารกลางของสหรัฐหรือเฟด ขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงอย่างพรวดพราด เพื่อกำราบเงินเฟ้อนั้น มันทำให้ค่าเงินบาทอ่อนฮวบฮาบ จนเรียกได้ว่าอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในปีที่ผ่านมา

ได้มีนักวิชาการออกมาท้วงติงว่า ธปท. ต้องเข้ามาดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบ้าง มิฉะนั้น ผู้นำเข้าในต่างประเทศก็จะหยุดสั่งซื้อสินค้าไทย เพื่อรอให้ค่าเงินบาทอ่อนสุดจนนิ่งแล้ว ค่อยมาสั่งซื้อ 

ดังนั้น การที่จะรักษาสมดุลย์ระหว่างดอกเบี้ยนโยบายในประเทศกับต่างประเทศ ก็มีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท และทำให้การส่งออกสามารถดำเนินไปด้วยความราบรื่นด้วย

การที่รัฐบาลจะกดดันให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยอ้างว่าเงินเฟ้อของไทยลดลงจนติดลบแล้วนั้น เราต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อของไทยถูกบิดเบือน ไม่ได้สะท้อนภาพที่เป็นจริง จากการที่รัฐบาลแทรกแซงราคาพลังงานและราคาสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟ จึงทำให้ดูเหมือนกับเงินเฟ้อของเราต่ำมาก

ว่ากันตามจริง อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ไม่ถือว่าสูงเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น มาเลเซียอยู่ที่ 3% เวียดนาม 4.5% อินโดนีเซีย 6% และฟิลิปปินส์ 6.5% ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 2.50%

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วทั้งหมด 5.25% ขณะที่ไทยเพิ่ง ขึ้นดอกเบี้ยไปเพียง 2.0% เท่านั้น (จากอัตราดอกเบี้ย 0.50% จนล่าสุดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50%)

หากเรารีบไปลดดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ต่างประเทศยังไม่ลด อาจจะเจอปัญหาอีกด้านคือ เงินไหลไปลงทุนที่อื่น เพราะธรรมชาติของเงินมักไหลไปที่มีผลตอบแทนสูง และทำให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนจนไม่มีเสถียรภาพอีกครั้ง

ถ้าหากเศรษฐกิจของเราดี และไม่มีนโยบายแจกเงินดิจิตอล ธปท.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้ แต่สองปัจจัยนี้ยังคงกดดันค่าเงินอยู่ จนทำให้ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนต่างประเทศไหลออกอย่างต่อเนื่องแล้วนับแสนล้านบาท 

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลเคยคาดหวังว่า เมื่อโรคโควิด-19 คลี่คลายลง เราจะส่งออกได้มากขึ้น และมีนักเดินทางนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน มาล้นหลามเหมือนเดิม 

แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ประเทศจีนมีปัญหาฟองสบู่แตก สถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์ล้มจำนวนมาก ประเทศจีนที่เคยเป็นประเทศนำเข้าสินค้าจากไทยรายใหญ่ที่สุดก็ลดคำสั่งซื้อลง นักท่องเที่ยวที่เคยมาก็เบาบางลง ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยไม่เข้าเป้า 

เมื่อเศรษฐกิจไทยไม่ดี จากการที่คาดการณ์ว่าปี 2566  GDPของไทยจะเติบโต 3.6% ก็ปรับลดลงมาเหลือ 2.8% มันก็ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ยิ่งถ้าดอกเบี้ยเราต่ำเกินไป ก็จะทำให้ค่าซ้ำเติมค่าเงินบาทยิ่งขึ้นไปอีก 

อย่างที่บอกว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เงินเฟ้อเพิ่งลดระดับลงมา (แต่ยังเป็นตัวเลขหลอก) ขณะที่ดอกเบี้ยของประเทศเพื่อนบ้านยังสูง เราจึงต้องประคองอัตราดอกเบี้ย แล้วดูเพื่อนบ้านไปด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ นักลงทุนนักธุรกิจต่างประเทศ เขาดูภาพรวมแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ถ้าผลีผลามจะมีปัญหา

แต่เนื่องจากมีรายงานว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์มาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 77% เพิ่มขึ้น 18.3% (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วน 23% ลดลง 17.2%

ตามปกติ เวลาดอกเบี้ยเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ธนาคารต่างๆจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และให้มีผลทันที ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉพาะดอกเบี้ยฝากประจำ ซึ่งมีมากกว่าครึ่งของเม็ดเงินที่ประชาชนนำไปฝากไว้ที่ธนาคาร กว่าจะปรับดอกเบี้ยก็ต้องรอให้ครบเทอมการฝาก เช่น หนึ่งปีหรือสองปีเสียก่อน จึงทำให้ธนาคารรับรู้รายได้ทันที ขณะที่รายจ่ายจะค่อยๆตามมา 

ส่วนดอกเบี้ยออมทรัพย์แทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะแทบจะไม่ขยับขึ้นให้เลย

ที่ผ่านมา ประชาชนผู้ฝากเงินเจ็บปวดมายาวนาน จากการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรืออัตราดอกเบี้ยลบด้วยเงินเฟ้อ ติดลบมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น ถึงเวลาแล้ว ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกดดันให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้มากกว่านี้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยได้กลับมาทำหน้าที่ปกติ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนกลับมาเก็บออมมากขึ้นแทนที่จะใช้ก่อนเก็บอย่างทุกวันนี้

ในอดีต ทุกครั้งที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ประชาชนคนไทยมักเสียสละที่ยอมให้ธปท.นำเงินของรัฐไปอุ้มสถาบันการเงินที่มีปัญหา เมื่อเศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นมา ธนาคารพาณิชย์ก็ควรจะเสียสละช่วยคนฝากเงิน ให้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาบ้าง 

แบ่งส่วนต่างของดอกเบี้ยให้คนฝากเงินบ้าง อย่าเอาแต่กินรวบคนเดียวตลอด รอให้เศรษฐกิจฟื้นคืนสู่ปกติ ธนาคารค่อยกลับมาทำกำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ใจเขาใจเรา ถ้าอยากจะอยู่กันยาวๆ ก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้กันบ้างครับ

ผู้เขียน : บรรยง วิทยวีรศักดิ์
อดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก