เศรษฐา มั่นใจดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต่อได้ พร้อมเปิดความเห็นกฤษฎีกาเมื่อถึงเวลา นัดคุยผู้ว่าธปท. หลังมีความเห็นต่าง ด้าน เลขาฯกฤษฎีกา แจงชัด แค่ให้ความเห็นคลังออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงินได้หรือไม่ ไม่ได้ไฟเขียวให้ทำได้ ยันถ้าทำตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังรัฐบาลปลอดภัย
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมหลังสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ว่า อย่างที่ตนเคยบอกไปแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่แบกความหวังของประชาชน 68 ล้านคน อย่างไรก็มีความหนักใจทุกเรื่อง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไก ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ของฝ่ายบริหาร เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีความข้องใจหรือมีเรื่องที่ต้องการให้เราตอบคำถาม ก็ต้องมีความพร้อม รัฐบาลยืนยันมีความพร้อม
นายเศรษฐา ยังกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมครม.วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่าน คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ตนเป็นประธานก่อน โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กำลังดูเวลาอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในตารางการประชุมของตน เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงินที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน
เมื่อถามว่า มองว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ นายกฯ กล่าวว่า ตนอยากจะฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายที่ต้องมีความเห็นของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ ใช่หรือไม่ ในความรู้สึกของนายกฯ นายเศรษฐา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องรัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย
ต่อข้อถามที่ว่า แสดงว่าเรื่องนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไปอีกสักระยะ นายกฯ กล่าวว่า ต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนนั่งเป็นประธานก่อน อย่างที่ตนได้เรียนให้ทราบ ยังไงก็ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ เพราะมีหลายฝ่ายร่วมอยู่ และต้องมาแสดงความคิดเห็น เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวนายกฯ มั่นใจว่าเรื่องนี้เดินไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ไปต่อได้แน่นอนครับ ชัดเจนครับ และต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาที่หลัง เมื่อถามว่า จะทันเดือน พ.ค.67 หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ อย่างที่บอกนัยสำคัญของกฤษฎีกาคือต้องฟังความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย
เมื่อถามว่า ยืนยันการออกเป็นพระราชบัญญัติจะทำได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันถ้าออกก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ทำให้เกิดความหนักใจอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมดเพราะต้องดูเรื่องของความถูกต้อง ความครบถ้วนในแง่ของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
เมื่อถามอีกว่า ความเห็นที่แตกต่างของนายกฯ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนหนึ่งมองว่าอาจมีผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ตนว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลายๆ ท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคืออยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น แต่เรื่องของการปฏิบัติงานหรือเรื่องนโยบายต่างๆอาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีโอกาสเชิญผู้ว่าธปท. มาพูดคุยกันเหมือนช่วงแรกๆ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ยังยืนยันและขอบคุณที่สื่อมวลชนบอกว่าไหนบอกจะมีการพูดคุยกันทุกๆ เดือน แต่รู้สึกว่าเดือน ธ.ค.ไม่ได้พูดคุยกันแต่ก็มีการยกหูโทรศัพท์คุยกัน ขอบคุณที่เตือนมา ตนก็ได้นัดไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยดีไม่ได้มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ตนเชื่อว่าท่านก็เห็นตรงกับตนบางเรื่อง ตนก็เห็นตรงกับท่านบางเรื่อง แต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาพูดคุยกันและเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็เป็นหน้าที่ตนที่จะต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของท่านว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ตรงนี้มองว่าเป็นการอยู่ร่วมกันเป็นธรรมดาก็ต้องมีการพูดคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยววันที่ 10 ม.ค.จะมีการพูดคุยกับรมช.คลัง และผู้ว่าธปท. ในเวลา 13.30 น. ซึ่งจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่องๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน
ด้าน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งความเห็นถึงกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ไปแล้ว โดยความเห็นดังกล่าวอาจจะต้องถูกนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด ทั้งนี้ตนขอชี้แจงว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีคำว่าไฟเขียว และเข้าใจว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ไม่ได้ระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ไฟเขียว
โดยให้ความเห็นที่เป็นเรื่องข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว ตามที่กระทรวงการคลังได้ถามมาว่าสามารถออกเป็น พ.ร.บ. ได้หรือไม่ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีการเป็นนักกฎหมาย ต้องมาดูว่าเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ในมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มีอะไรบ้าง ซึ่งเงื่อนไขในนั้นระบุว่า เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะนักกฎหมายตอบได้เพียงเท่านี้
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ถามมาว่าแล้วออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่ ตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็บอกแล้วว่าออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้น ก็แล้วแต่ เพราะเป็นกฎหมายเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นการอธิบายมาตรา 53 เท่านั้น และระบุไปว่าต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ และขอย้ำว่าตนเป็นนักกฎหมาย ไปชี้ไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เมื่อถามว่า ความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นข้อยืนยันที่สามารถรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ กล่าวว่า อันนี้ไม่รู้ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกายืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เมื่อถามย้ำว่า การันตีได้หรือไม่ว่าถ้ารัฐบาลทำตามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าทำตาม ปลอดภัยแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาลสามารถอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเกราะป้องกันได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไข ก็ไม่มีปัญหา เมื่อถามถึงข้อสังเกตรัฐบาลบอกว่าเป็นภาวะวิกฤต แต่จะออกเป็นพ.ร.บ.ถือว่าย้อนแย้งหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บอกว่าให้กู้ได้ด้วยการตราเป็นกฎหมาย กฎหมายก็มีพ.ร.บ.กับพ.ร.ก. ซึ่งที่ผ่านมาออกเป็นพ.ร.ก. ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ถ้าถามว่าออกเป็น พ.ร.บ. ทำได้หรือไม่นั้น ก็ทำได้ เคยพิจารณา 3 วาระรวดแล้วก็มี ไม่ใช่อะไรที่ยาก
เมื่อถามว่า ระหว่างออกเป็นพ.ร.บ.กับพ.ร.ก. อะไรปลอดภัยกว่ากัน นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าเรียกว่าปลอดภัยคงไม่ได้ เพราะปลอดภัยทั้งคู่ ถ้าถูกต้องตามเงื่อนไข ไม่มีปัญหา เมื่อถามว่า หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นไปแล้ว มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ห่วงอะไรเลย เวลารัฐบาลทุกชุดจะทำอะไร ไม่ใช่เฉพาะชุดนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลและข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าทุกคนจะอยู่บนข้อเท็จจริงเหล่านี้เหมือนกัน