วันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายนพนันท์ ตาปนานนท์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง แถลงข่าวเรื่อง ผังเมืองใหม่ กทม. เอื้อนายทุนจริงหรือ

โดยนายวิศณุ กล่าวว่า เนื่องจากปี 2562 มี พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ออกมา กำหนดให้มีการทำผังน้ำและผังทรัพยากรสำรองเพิ่มเติม โดยมติของคณะกรรมการจัดทำร่างผังเมือง กำหนดให้ กทม.เป็นผู้จัดทำ ตามกระบวนการต้องผ่านความคิดเห็นตามขั้นตอนจนถึงครั้งที่ 7 ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา

กรณีมีผู้ตั้งคำถามว่า กทม.จัดทำร่างผังเมืองเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่ ซึ่ง กทม.ยืนยันว่าไม่มีการจัดทำร่างผังเมืองเพื่อเอื้อนายทุนตามที่มีการตั้งข้อสงสัย เนื่องจาก แต่เดิมมีแนวคิดปรับผังที่ดินเพื่อให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จริง แต่ปัจจุบันในการปรับผังใหม่ ระบุว่า เจ้าของที่ดินผู้ได้ประโยชน์จากการปรับผังที่ดินต้องปันประโยชน์ให้แก่สาธารณะด้วย เช่น ให้พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนเข้าถึงได้ หรืออนุญาตให้จัดตั้งระบบสาธารณูปโภค ทางเท้า เสาสะพานทางเดินลอยฟ้าในที่ดินของตนเอง เป็นต้น ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากการปรับผังแล้ว

นายวิศณุ กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีความตื่นตัวในการแสดงความเห็นมากขึ้น กทม.จึงจะขยายระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกำหนดเดิมวันที่ 22 ม.ค.66 เป็น สิ้นเดือน ก.พ.66 โดยร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันแตกต่างจากร่างผังเมืองเมื่อปี 2556 โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย จึงต้องปรับสีผังเมืองเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเต็มศักยภาพ และเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ ยังต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการอีกหลายขั้นตอน ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมือง โดยมี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน 2.คณะกรรมการจากกรมโยธาธิการและผังเมือง 3.คณะกรรมการจากกระทรวงมหาดไทย โดยมี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน หลังจากนั้น จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก 1 ครั้ง หลังจากผ่านความเห็นจากคณะกรรมการทั้งหมดแล้ว เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถคัดค้านและแสดงความเห็นได้

จากการรับฟังความเห็นประชาชนครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องแนวเขตทาง จากผังเมืองที่มีการขีดเส้นระบุความกว้างถนน เช่น ถนน ก.กว้าง 12 เมตร ถนน ข.กว้าง 16 เมตร เป็นต้น ประชาชนจึงกลัวว่าจะถูกเวนคืนพื้นที่อาศัย จึงขอชี้แจงว่า ไม่มีการเวนคืน แต่การขีดเส้นระบุแนวความกว้างของถนนเพื่อให้การก่อสร้างใหม่ในอนาคตไม่รุกล้ำแนวเส้น ต้องถอยร่นเปิดพื้นที่ความกว้างของถนนที่กำหนดไว้ ไม่ให้เกิดความแออัด ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจะเวนคืนสิ่งก่อสร้างหรือบ้านเรือนที่สร้างแล้วในปัจจุบัน ยืนยันว่า ไม่มีการเวนคืนพื้นที่ที่สร้างแล้วคืน

นายวิศนุ กล่าวว่า เรื่องผังสีต่าง ๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/ ซึ่งสามารถระบุได้ว่าที่อยู่อาศัยของประชาชนแต่ละรายอยู่ในเขตผังสีใด ได้รับผลกระทบหรือไม่ และสามารถคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นตามกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกำหนดประกาศใช้ผังเมืองใหม่อย่างเป็นทางการ