Krungthai GLOBAL MARKETSเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.97 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.04 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.86-35.07 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าเหนือระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ของเงินบาท ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้ส่งออกบางส่วน ทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญไปได้ไกล จังหวะการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่ำกว่าระดับ 4.00% ได้ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ Nvidia +6.4%, Amazon +2.7% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.20% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.41%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.38% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาว ASML +1.4% นอกจากนี้ ข่าวการระงับการบินของเครื่องบิน Boeing 737MAX9 โดย FAA สหรัฐฯ ที่กดดันราคาหุ้น Boeing -8% ก็ได้หนุนให้ หุ้น Airbus ปรับตัวขึ้นกว่า +2.5% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันจากการปรับตัวลงแรงราว -3% ของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงอีกครั้ง จากความกังวลการปรับลดราคาขายน้ำมันของซาอุฯ และการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะย่อตัวลงหลุดระดับ 4.00% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์โดยเฟดสาขานิวยอร์ก ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม และท่าทีของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เริ่มระมัดระวังต่อรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ นี้ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 4.01% อีกครั้ง อนึ่ง เรายังคงแนะนำว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงแรก ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างเล็กน้อย หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นบ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 102.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102-102.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวด์ขึ้นเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
 
สำหรับวันนี้ แม้ว่าจะไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญมากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Michael Barr ในช่วงเวลา 0.00 น. ของเช้าวันพุธ ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด หลังผู้เล่นในตลาด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ต่างได้รับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุดเป็นที่เรียบร้อย

โดยแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังวันก่อนหน้าเงินบาทได้อ่อนค่าเร็วและแรงมากกว่าที่เราคาดไว้ จนไปทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบบนที่เราประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ (ทำให้เราขยับกรอบบนของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ขึ้นเป็น 35.30 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นแนวต้านที่อาจผ่านไปได้ยาก เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ส่วนผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีมุมมองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Long THB ได้ 

ทั้งนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่อาจสร้างความผันผวนต่อเงินบาทได้ในช่วงตลาดยังขาดรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ คือ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า เริ่มมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทก็ยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ จนกว่าจะเห็นการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน จนกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้

ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์

 

#KrungthaiGLOBALMARKETS #ค่าเงินบาท #ดอกเบี้ย