กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ผลักดันการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทย ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกรและตลาด

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอดีต มีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวจากพันธุ์ที่มีรสชาติดีและเหมาะกับสภาพพื้นที่ เพื่อปลูกและบริโภค แต่ตามหลักวิชาการนั้น การคัดเลือกพันธุ์ข้าวเป็นกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดี มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค เหมาะสมกับการปลูกในนิเวศต่างๆ (ข้าวนาชลประทาน ข้าวนาน้ำฝน ข้าวไร่ ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก) รวมทั้งพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยว ทนดินเค็ม ทนน้ำท่วมฉับพลัน) กรมการข้าวจึงมีการผลักดันการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าวขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและให้การพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวให้มีมาตรฐาน เป็นที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ทางด้าน กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ให้ข้อมูลว่า การรับรองพันธุ์ข้าว กรมการข้าว มีหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดการสำหรับการขอรับรองพันธุ์ ดังนี้ คุณสมบัติของพันธุ์ที่เสนอขอรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว ต้องเป็นพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการพัฒนาหรือปรับปรุงพันธุ์ตามขั้นตอนทางวิชาการ หรือเป็นพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ที่นำมาจากแหล่งอื่น หรือพันธุ์ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วไป สามารถตรวจสอบประวัติ และที่มาของพันธุ์ได้ มีความแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว (Distinctness) มีความสม่ำเสมอในประชากร (Uniformity) มีความเสถียรของลักษณะปรากฎ (Stability) มีความพร้อมของเมล็ดพันธุ์และข้อมูลพันธุ์ข้าวประกอบการพิจารณารับรองพันธุ์ตามกำหนดของกรมการข้าว 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอรับการรับรองพันธุ์ จะต้องมีคุณสมบัติดังอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือมีคุณสมบัติอื่นตามที่กรมการข้าวประกาศกำหนดเพิ่มเติม และสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมหลังจากยื่นคำขอรับรองพันธุ์ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์เพียงพอต่อการกระจายพันธุ์ในฤดูกาลถัดไปจากวันที่ประกาศรับรองพันธุ์ และแปลงปลูกข้าวเพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบภาคสนามตรวจสอบคุณสมบัติพันธุ์ข้าว

สอบถามรายละเอียดได้ที่ https://brrd.ricethailand.go.th หรือ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิทยาการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าว กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โทรศัพท์ 025793642