วันที่ 8 มกราคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการอบรมทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ รุ่นที่ 2” ให้กับทหารจากค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ณ โรงแรม ลาโค่ เขาใหญ่ - เอ ชาเทรียม คอลเลคชั่น จังหวัดนครราชสีมา 
เพื่อรองรับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) 
 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ ได้รับการเสริมสร้างความรู้และทักษะการดูแล ผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดตามมาตรฐานสาธารณสุข ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดยหลังจากการอบรมฯ ทหารผู้ปฏิบัติงานในศูนย์รักษ์ใจ จะมีความรู้ความสามารถด้านการพยาบาล เช่น ให้การพยาบาลขั้นพื้นฐานตามหลักวิชาการ การตรวจร่างกาย การทำกิจกรรมกลุ่ม การพยาบาลผู้ป่วยที่ก้าวร้าว การรายงานอาการผู้ป่วยต่อพยาบาลหัวหน้าเวร โดยเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุขและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก


 
ทั้งนี้ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหายาเสพติด โดยจากปัญหาผู้ใช้ยาเสพติดเป็นเวลานานจนเกิดอาการทางจิตและก่อความรุนแรงในชุมชน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงกำหนดปฏิบัติการเร่งด่วน Quick Win นำผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย 30 จังหวัด 85 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดกลุ่มเร่งด่วน (เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสูงสุด) เข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อคืนความปลอดภัยให้ชุมชน 

ซึ่ง มีพื้นที่เร่งด่วน 4 จังหวัดที่ขาดแคลนเตียงจิตเวช ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดกาญจนบุรี โดยกองทัพบกได้สนับสนุนพื้นที่ในค่ายทหารฯ จัดตั้งเป็น “ศูนย์รักษ์ใจ” เพื่อดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดชั่วคราว (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลค่ายฯ) ได้แก่ 1. ค่ายจักรพงษ์ (อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด จากจังหวัดปราจีนบุรี 2. ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด จากจังหวัดศรีสะเกษ 3. ค่ายสุรนารี (อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด จากจังหวัดชัยภูมิ 4. ค่ายสุรสีห์ (อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี) รองรับผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด จากจังหวัดกาญจนบุรี
 
โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งศูนย์รักษ์ใจเป็นความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงการมีเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งการรองรับผู้ป่วยจิตเวชในเวลาเร่งด่วนจำเป็นต้องใช้ ปัจจัยในด้านสถานที่ อุปกรณ์และบุคลากรรองรับ ต้องขอบคุณกองทัพในการสนับสนุน 


 
พร้อมกันนี้ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ยังกล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ต้องร่วมดำเนินการแก้ไขในหลายมิติ และรัฐบาลได้กำหนด 5 เสาหลักที่เป็นปัจจัยในการแก้ปัญหาคือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาชน โดยปฏิบัติการ Quick win นำผู้ป่วยจิตเวชเข้ารักษาที่เริ่มในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดีที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนำผู้ป่วยจำนวน 4,414 ราย เข้ารักษา และและหากพบผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่จะดำเนินการนำเข้ารักษาด้วย

ในขณะที่ผู้เสพยาเสพติดที่ยังไม่มีอาการทางจิตจะนำชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลผู้เสพยาเสพติด หรือ CBTx ซึ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชน เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ต้องลงไปสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน ให้เห็นถึงความตั้งใจ ประชาชนจึงจะเกิดความเชื่อมั่น และมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติด