กรุงเทพมหานคร ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกทม.เป็นประธานเปิด ร่วมด้วยผู้บริหาร หน่วยงานเกี่ยวข้อง เป็นการจัดครั้งที่ 7 ภายหลังได้จัดประชุมสัญจรรายกลุ่มเขตไปแล้ว 6 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนทุกภาคส่วน มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนฯ (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง
โดยมีนำเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ ให้ทุกส่วนรับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน นำไปปรับปรุงผัง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ 3 ชุด เห็นชอบ ปิดประกาศ 90 วัน และยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร คาดในปี 2568 เราจะมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับ แทนฉบับปัจจุบันที่ใช้มากว่า 10ปี
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกทม. ฉบับใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาให้“กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเพื่อทุกคน และเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งเราจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนรายเขตมาแล้ว 6 ครั้ง หลังจากนี้จะนำความคิดเห็นของประชาชนไปปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวม สรุปเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการของกรมโยธาธิการและผังเมือง คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด กรุงเทพมหานคร (ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปิดประกาศฯ 90 วัน
“เราจะไม่ทิ้งข้อเสนอแนะใดเลย จะรวบรวมความเห็นของประชาชนนำเสนอคณะกรรมการฯ ทุกประเด็น ไม่ต้องกลัวว่าตรงไหนจะตกหล่น กระบวนการที่รับฟังความคิดเห็นตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ ในการที่จะนำมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ โดยภาพรวมถ้าไม่มีอะไรติดขัด ในปี 68 เราจะมีความหวังที่จะประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมฉบับใหม่” ผอ.ไทวุฒิ กล่าวย้ำ
นายไทวุฒิ กล่าวว่า "การจัดทำผังเมืองรวมฉบับนี้เราจึงดูหลายมิติ" เช่น เรื่องของความเหลื่อมล้ำในพื้นที่รอบนอก ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เราจะมีบ้านพักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ โดยการจัดสรรที่ดินแปลงขนาดเล็กเพิ่มขึ้น จาก 5,000 ไร่ เป็น 130,000 ไร่ เกิดพื้นที่ทาวเฮาส์ขนาดเล็ก เป็นประโยชน์ของผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านพักอาศัยในเมืองโดยไม่ต้องเดินทางไกล
อีกส่วนคือ เรื่องของผังน้ำ เราลดพื้นที่ของทางน้ำหลาก ‘ฟลัดเวย์’ (เขียวลาย) จากที่สำรวจมีที่ไม่ได้ใช้และยกเลิกแล้วไม่มีผลกระทบกับน้ำท่วม ฝั่งตะวันออกลดจาก 90,000 ไร่ เหลือ 30,000 ไร่ รวมกับฝั่งธนบุรีทั้งหมด จะยกเลิกพื้นที่เขียวลาย รวม 120,000 ไร่ ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้ จะเกิดการพัฒนาเป็นประโยชน์กับประชาชนระดับล่าง
ส่วนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง เรื่องจุดเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะจะพัฒนาเพิ่ม เรื่องถนนไม่ได้เน้นที่จะทำถนนใหม่ จะปรับปรุงถนนสายเดิมเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ของเมือง ให้เกิดการใช้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงมีมาตรการจัดรูปที่ดินในแนวเวนคืนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินตาบอดได้ จะทำให้ใช้งบประมาณในการเวนคืนน้อยลง
“ในส่วนข้อกังวลกรณีผังเมืองฉบับใหม่กำหนดเขตทาง ถนนถึง 148 สายเกรงเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้นเป็นถนนเดิม 97 สาย เป็นการขยายถนนโดยไม่ได้เวนคืน เช่น ถนนในหมู่บ้าน 6-8 เมตร ขยายเป็น 12 เมตร เพื่อให้ผู้ที่จะก่อสร้างใหม่ต้องมีความกว้าง 12 เมตร เพื่อให้มีแนวร่นให้เกิดความสวยงามและเพื่อสาธารณูปโภคในอนาคต ไม่ได้ไปยุ่งกับถนนเดิมไม่มีการเวนคืนเลย ไม่ต้องกังวล ส่วนถนนใหม่นั้น ไม่ได้จะสร้างได้ง่าย แนวถนนตามที่กำหนดไว้ในผังเมืองเดิม ถนนหนึ่งสายจะสร้างได้ใช้เวลาในการเวนคืน 20-30 ปี วันนี้ที่ประกาศไว้หลายสายจะพยามเอาที่จำเป็นเท่านั้น แนวที่เกิดขึ้นเป็นการวางผังในอนาคต”
ทั้งนี้ การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครครั้งที่ 4 นี้ ประกอบด้วย 6 แผนผัง คือ
1. แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ที่ดินในอนาคตให้สอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคม และระบบโครงสร้างพื้นฐาน
2. แผนผังแสดงที่โล่ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ
3. แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อแสดงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง
4. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
5. แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริม รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. แผนผังแสดงผังน้ำ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบการระบายน้ำ และการป้องกันน้ำท่วม
นายไทวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ร่างผังเมืองดังกล่าวนี้ยังมีการเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชน ที่ต้องการพัฒนาหรือดำเนินการอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 10 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมระหว่างแปลงที่ดิน (TDR) ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์ และมาตรการเฉลี่ยอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมสำหรับโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ (PUD) ถือเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
อย่างไรก็ตามประชาชนยังสามารถยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกทม.เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 หรือผ่านทางเว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (webportal.bangkok.go.th/cpud) ภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 หรือติดตามความคืบหน้า ได้ที่ www.plan4bangkok.com หรือ โทร. 0-2354-1274-75