วันที่ 6 ม.ค. 67 นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมี นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวรายงานถึงความเป็นมาและความสำคัญของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาให้ “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเพื่อทุกคน และเติบโตอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีจุดให้บริการประชาชนเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของแผนผังและข้อกำหนดต่าง ๆ และรับหนังสือแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีนำเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ทั้งรายละเอียดแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางผังเมือง 

จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับปรุงผังเมืองรวมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถือเป็น ครั้งที่ 4 โดยการจัดทำผังเมืองรวมครั้งนี้ ประกอบด้วย 6 แผนผัง คือ 1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ที่ดินในอนาคตให้สอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคม และระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2. แผนผังแสดงที่โล่ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ 3. แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อแสดงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง 4. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ 5. แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริม รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. แผนผังแสดงผังน้ำ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบการระบายน้ำ และการป้องกันน้ำท่วม 

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชน ที่ต้องการพัฒนาหรือดำเนินการอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 10 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมระหว่างแปลงที่ดิน (TDR) ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์ และมาตรการเฉลี่ยอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมสำหรับโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ (PUD) ถือเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังจากการประชุมในวันนี้ กรุงเทพมหานครจะนำความคิดเห็นของประชาชนไปปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการของกรมโยธาธิการและผังเมือง คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน) ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปิดประกาศฯ 90 วัน ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปรับแก้ไขผังเมืองรวมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับแทนฉบับปัจจุบัน ประมาณปี พ.ศ. 2568

อย่างไรก็คงตามประชาชนสามารถยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 หรือผ่านทางเว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (webportal.bangkok.go.th/cpud) ภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้าและรายละเอียดเพิ่มเติมของการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ได้ที่ www.plan4bangkok.com หรือ โทร. 0 2354 1274-75

​​​​​​​