โคราช ถกปัญหาอุปสรรคก่อสร้างทางลอด จ่อรื้อสะพานลอยเทอร์มินอลและ รร.เทศบาล 4 เบื้องต้นได้แนวทางวินวิน    



เมื่อวันที่ 5 มกราคม รายงานการแก้ปัญหาจราจรคับคั่ง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข (ทล.) 2 ถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) และทางแยกประโดก (พีกาซัส) ซึ่งมีปริมาณรถประมาณ 6 หมื่นคันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลากว่า 10 ปี กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณจุดตัด ทล.2 กับถนนช้างเผือก (แยกประโดก) และ ทล.2 ตัดกับ ทล.224 (แยกนครราชสีมา) แต่มีการคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าทำให้ต้องชะลอโครงการ 

ต่อมา ครม.อนุมัติงบฯ 373 ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการทางลอดแยกนครราชสีมา รองรับการจราจรจาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี จำนวน 2 ช่องจราจร รวมระยะทาง 1,181 เมตร เริ่มต้นบริเวณหน้าศูนย์เพาะชำเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ถึงหน้าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงพีที โดยมี บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ใช้เวลา 960 วัน และทางลอดแยกประโดก รองรับการจราจรขาเข้า-ออกตัวเมืองนครราชสีมา จำนวน 6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.750 กิโลเมตร งบฯ ดำเนินการ 849 ล้านบาท ใช้เวลา 1,080 วัน

ล่าสุด นายทวีศักดิ์  ศักดิ์ศินานนท์ ผู้แทนกรมทางหลวง ในฐานะผู้จัดการโครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา ได้ชี้แจงขั้นตอนการเจาะผนังอุโมงค์ทางลอดมีความลึกจากพื้นถนน 13-20 เมตร กับนายสุรวุฒิ  เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา นายประพนธ์  ธรรมประทีป สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 นายธีรพงษ์  อโณทัยไพบูลย ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) นายวัชรพล  หมื่นทรัพย์ ผู้จัดการส่วนบริหารอาคารและสถานที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราชและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีปัญหาอุปสรรคไม่สามารถใช้เครื่องเจาะ D-Wall ที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร เข้าไปปฏิบัติงานใต้สะพานลอยคนข้ามหน้าเทอร์มินอล 21 ซึ่งออกแบบโดยไม่มีเสาตอม่อตรงกลางและอาจเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างค่อนข้างมากและสะพานลอย รร.เทศบาล 4 มีเสาตอม่อตรงกลาง จึงต้องรื้อถอนตัวสะพานทั้ง 2 แห่ง เบื้องต้นได้เสนอแนวทางโดยสะพาน รร.เทศบาล 4 ใช้รถเครนยกตัวสะพานออกหลังเจาะอุโมงค์เสร็จจะดำเนินการก่อสร้างให้ใช้งานเหมือนเดิมและใช้เทคนิคทางวิศวกรรมโยธาปรับความสูงของเครื่องเจาะให้ต่ำกว่าตัวสะพานเทอร์มินอล แต่มีค่าใช้จ่ายมูลค่าเลข 7 หลัก อยู่ระหว่างนำเสนอแผนให้ผู้รับผิดชอบรับทราบ

นายสุรวุฒิ เปิดเผยว่า ขอบคุณนายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้ติดตั้งอุปกรณ์แผงผ้าใบลายต้นไม้ใส่ใจด้านภูมิทัศคนเมือง ตีเส้นจราจรจัดระเบียบให้ผู้ใช้ทางและเพิ่มจุดล้างล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อไม่ให้มีเศษดินตกหล่นบนผิวจราจรรวมทั้งรับข้อเสนอปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าแสงสว่างในอุโมงค์ เดิมใช้หลอดโซเดียมเป็นหลอดแอลอีดีมีคุณสมบัติใช้พลังน้อยและมีความร้อนต่ำช่วยลดสภาวะโลกร้อน สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในระหว่างก่อสร้างได้ค่อนข้างดี 

ทั้งนี้หลังเปิดศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 อย่างเป็นทางการ บริษัท สยามรีเทล ดีเวลล้อบเม้นท์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเทอร์มินอล 21 เสนองบ 64 ล้านบาท ใช้ก่อสร้างสะพานลอยเชื่อมต่อระหว่างเทอร์มินอล 21 กับห้างบิ๊กซีนครราชสีมา แต่การเจรจาไม่ลงตัว ต่อมาผู้บริหารเทอร์มินอลได้ทุ่มซื้ออาคารพาณิชย์ 2 คูหา ฝั่งตรงข้ามมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อปรับจุดเชื่อมต่อใหม่พร้อมก่อสร้างลิฟท์โดยสาร เพื่อความสะดวกปลอดภัยในการเดินเท้าข้าม ทล.2 ทำให้สะพานเทอร์มินอลมีความยาวมากที่สุดในภูมิภาค ลักษณะเฉียงกับพื้นถนน ไม่มีเสาตอม่อตรงกลาง เป็นภูมิทัศน์เมืองที่สวยงาม มูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาทและแต่ละวันมีผู้ใช้บริการกว่า 4 พันคน