วันที่ 5 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน3.48ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากฝ่ายค้านและรัฐบาล และรัฐมนตรี อภิปรายจนครบแล้ว ต่อมาเวลา 19.28 น. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สรุปการอภิปรายพิจารณาร่างงบประมาณ ภายใต้วิกฤติแบบใดทำไมจัดงบแบบนี้ ยังไม่ตอบโจทย์สะท้อนปัญหาประเทศ ต่างจากพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทยในอดีต
ท่านนายกฯได้รับโอกาสเป็นครั้งแรกในชีวิตทำให้สมกับว่าเป็นตัวจริง ทุกข้อติติงของพวกเรามาพร้อมกับข้อเสนอเป็นประโยขน์ต่อทุกคน อยากให้พวกเรามองไปข้างหน้า การเลือกตั้งครั้งหน้าโจทย์เราไม่ใช่ว่าจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ แต่โจทย์ของพวกเราคือพร้อมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศหรือไม่ เวทีครั้งนี้ไม่ใช่เวทีที่พวกตนจะทำลายล้างรัฐบาล แต่เป็นเวทีซ้อมมือเพื่อเอาชนะรัฐบาล ด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมและข้อเสนอที่ดีกว่า
“พวกเราจะชนะด้วยการเก็บเกี่ยวปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่า มาแข่งกันเอาชนะใจประชาชน แม้พวกตนชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้กติกาการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน
วันนี้อำนาจอยู่ในมือรัฐบาลขอให้ทำให้ดี เพราะเชื่อว่าผู้แพ้จากการทำงาน4ปีต่อจากนี้จะโดนบดขยี้ด้วยฉันทามติประชาชนทั้งนี้ พวกตนไม่สามารถโหวตเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้” นายณัฐพงษ์ กล่าว
จากนั้นเมื่อเวลา 20.08 น. นายกฯ กล่าวปิดท้ายว่า ในนามรัฐบาลขอบคุณสมาชิกที่ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ที่รัฐบาลเสนอ ขอเรียนว่าแม้การจัดงบรายจ่ายภายใต้เวลาที่เร่งด่วน และมีงบประจำ งบผูกพันธ์ ที่รัฐบาลต้องดูแลอย่างเป็นธรรม แต่ยังมุ่งหวังทำชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น
สำหรับงบที่พิจารณาวาระอยู่นี้ มีไฮไลท์คือ 4 เพิ่ม 1ลด ได้แก่ จัดงบประมาณเพิ่มขึ้น งบลงทุน เงินคงคลังเพิ่มขึ้น และรายได้เพิ่มขึ้น มั่นใจจะขยายฐานภาษีผ่านการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นธรรม และ1ลด คือลดการขาดทุน แม้จะเหลือเวลาใช้งบไม่นาน จะทำให้มีประสิทธิภาพและใช้อย่างมีคุณค่า
กระทั่งเวลา 20.12 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ สั่งให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ผลปรากฏว่า เห็นด้วย 311 ไม่เห็นด้วย177 งดออกเสียง4 ไม่ออกเสียงไม่มี เท่ากับที่ประชุมเห็นด้วยรับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จำนวน 72 คน