วันนี้ (5 มกราคม 2567) พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมาย ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าว ประกาศเข้าฤดูฝุ่น ขอให้ทุกหน่วยงานคุมเข้ม ควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่น
ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมอบหมายท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ได้เร่งรัด กำชับ เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก และการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ซึ่งเป็นการควบคุมที่ต้นตอของฝุ่น และในต้นปีนี้รัฐบาล ได้ปรับกลยุทธ์การสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็น กลไกการบริหารจัดการ โดยจัดตั้งศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น และแนะนำการปฏิบัติตนให้แก่พี่น้องประชาชน ชี้เป้าต้นตอหรือแหล่งกำเนิดฝุ่นของพื้นที่ เช่น การเผาในพื้นที่ป่า นาข้าว อ้อย ข้าวโพด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งให้กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หน่วยงานที่กำกับดูแลแหล่งกำเนิด เพื่อการระงับ ยับยั้งต้นตอ แหล่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่น ซึ่งมีผลมาจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ ลมสงบทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น สถานการณ์วันที่ 5 มกราคม 2567 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ไปจนถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสานโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี /สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือตอนล่าง ว่าต้องเฝ้าระวังช่วงระหว่างวันที่ 5-12 มกราคม 2567 เนื่องจากอัตราการระบายอากาศในพื้นที่ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งแหล่งกำเนิดหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจราจรในพื้นที่ และแหล่งกำเนิดจากนอกพื้นที่ ได้แก่ ฝุ่นจากการเผาในที่โล่งในจังหวัดปริมณฑลและโดยรอบ
นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า การควบคุมแหล่งกำเนิด ต้องกวดขันดูแลการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ดีเซล ฝุ่นจากเขตก่อสร้าง และการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้การเผาในที่โล่งจากพื้นที่ต้นลม ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ท้ายลมทวีความรุนแรงได้ยิ่งขึ้น โดยระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 พบจุดความร้อนสะสมในประเทศไทยทั้งสิ้น 1207 จุด คิดเป็นสัดส่วนในพื้นที่นาข้าว 38% พื้นที่ไร่อ้อย 13% พื้นที่ไร่ข้าวโพด 6% พื้นที่ป่า 11% พื้นที่เกษตรอื่นๆ 17% และพื้นที่อื่น 17% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมจัดการ
นอกจากนี้ คพ. ในฐานะศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการซักซ้อมแนวปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ 76 จังหวัด ถึงแนวปฏิบัติการด้านสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆและการประสานงานกับ ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หน่วยงานกำกับดูแลแหล่งกำเนิดในการกำกับดูแลกวดขันและเฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ดังนั้น ในช่วงสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองมีค่าสูงนั้น ประชาชนควรฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ตามแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ จากแอปพลิเคชัน Air4thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อใช้ประกอบการดูแลตอนเอง และวางแผนการดำรงชีวิตโดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้งต่อไป นางสาวปรีญาพร กล่าว