บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

จบไม่ลงจริงๆ ขอต่ออีกสักนิด ว่าด้วยเรื่องการ ทุจริต ที่ใครจะดูว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะที่ไหนๆ ก็เห็นมีแบบนี้กันไปหมด มิใช่เฉพาะแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เท่านั้น ที่จริงหากไม่ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระยังมีเรื่องเล่ากันได้อีกมากมาย คนในองค์กร อปท. ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในสิ่งที่มีคนท้วงติงว่ามา ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน แก้ไข มิใช่แถลแถไถ ฝืนต้าน ขวางทาง ต่อว่า รวมไปถึงการด้อยค่าด่าทอผู้ที่ได้ว่ากล่าวคนนั้น

งานวิจัยเก่าของโกวิทย์ พวงงาม (2549) พบว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่าคอร์รัปชันมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2543-2550 คือ อปท. พฤติกรรมการคอร์รัปชันใน อปท.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการบริหารงานบุคคลมักจะมีพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งพฤติกรรมทั้ง 8 ประการ ได้แก่ 1)การยักยอก 2)การเรียกรับเงินหรือการให้สินบน 3)การเลือกจ้างหรือแต่งตั้งญาติและพวกพ้อง 4)การให้สัมปทานเฉพาะพรรคพวก 5)การใช้ข้อมูลภายในเพื่อการค้า 6)การฟอกเงิน 7)การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และประการสุดท้ายคือ 8)การเอื้อประโยชน์ เมื่อวิเคราะห์ลักษณะการคอร์รัปชันของ อปท. พบว่า ลักษณะการคอร์รัปชันที่พบได้จากการปฏิบัติงานของ อปท.โดยภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลางลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นจริง

จากข้อมูลของมานะ นิมิตรมงคล (2566) พบว่า เงินบาปจากคอร์รัปชันในภาครัฐเสียหายราว 5 แสนล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่รวมถึงความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนอื่นอีก เกิดจากกลโกง 3 ประเภทคือ “1)โกงหลวง 2)ฉ้อราษฎร์และ 3)กัดกินกันเอง” ซึ่งจากการประเมิน  ITA ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ารับการประเมินมีผลคะแนน การประเมินที่สูงมากถึง99% มีคะแนน ระดับผ่านดีเยี่ยม ที่ไม่สอดคล้องกับสถิติข้อมูลการทุจริตที่พบ

ระบบบริหารบุคคลบิดเบี้ยว​ เพราะวัฒนธรรมอุปถัมภ์​

อยากได้อะไรก็วิ่งลอบบี้​ คิดสรุปกันเพียงไม่กี่คน ทำอะไรก็มีเบื้องหลัง ไม่ตรงไปตรงมา​ ไม่ต้องมีเหตุผล​ ไม่เปิดเผย​ ไม่โปร่งใส ที่มีมานานแล้ว ข่าวเมื่อหลายปีก่อน ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ศาลสั่งลงโทษก็มีแบบนี้มานานแล้ว ที่แม้การสอบแข่งขันในช่วงสิบปีที่แล้วมีมาก เพราะระบบอุปถัมภ์เส้นสายมันลงรากลึกมาก ว่ากันว่าส่วนหนึ่งคนฝ่ายปกครองได้ถ่ายทอดระบบอุปถัมภ์ให้ อปท.มากมาย หรือ อปท.ลอกเลียนแบบแนวมาจากครู สพฐ. ก็เป็นได้ เพราะการทุจริตในกระบวนการงานบริหารบุคคลมันแยบยลมากๆ ที่สามารถเลียนแบบจากหน่วยราชการอื่นข้างเคียงได้ เรียกว่า ยืมแบบก็อบแบบแนวทางกันมา และก็มักได้ผล เพราะเป็นแนวทางปกติ ที่เขาทำตามกันอย่างได้ผล แม้บางอย่าง อาจนำมาใช้ใน อปท.โดยตรงไม่ได้ เช่น การขายข้อสอบ การทำข้อสอบรั่ว หรือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนการย้ายสลับแลกเปลี่ยนกันจากที่อยู่เดิมไปอยู่ตำแหน่งในท้องที่ที่ดีกว่า เจริญกว่า ก็ต้องมีการจ่ายเงินซื้อตำแหน่งนั้น เป็นต้น ว่ากันว่ามือที่มองไม่เห็นเป็นตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลังเอกสารต่างๆ มักไม่ปรากฏตัวให้เห็น หรือมีพยานหลักฐานที่สืบสาวเอาผิดได้ มักจะลอยตัว ไม่ต้องรับผิด มักเป็นคนใหญ่ในส่วนกลางหรือผู้มีบารมีในพื้นที่และวงการ มีเรื่องก็โยนให้คน อปท. เช่น การจัดสอบ, การประเมิน, โครงการเงินอุดหนุนทั้งหลาย บางแห่งหนักข้อเข้าไปแทรกแซงแบ่งงานการจัดซื้อจ้างโครงการ ใน อปท.หลายแห่ง อย่างคดีกำนันนก

จริงการทุจริตของท้องถิ่นต้องมีการแก้ไข เริ่มต้นที่การบริหารงานบุคคลที่ต้องโปร่งใสไร้ทุจริต กล่าวคือ ความโปร่งใสควรเน้นเรื่องบริหารงานบุคคลก่อนอันดับแรก แต่ที่ผ่านมา อปท.ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ ไม่ว่าจะดำเนินการการหาบุคลากร ที่ระดับส่วนกลางหรือที่ระดับ ก.จังหวัดก็ตาม และพบว่า ในการต่อสู้เรียกร้องต่างๆ ของคน อปท. นั้น มีกลไกการขับเคลื่อนที่ซับซ้อนหลากหลายรูปแบบ ที่อ่อนไหว เหนื่อยล้า ฟันเฟืองกัดกร่อน ไร้แรงดัน คนที่สู้ ก็สู้ไป แม้ทุกฟันเฟืองต่างแสดงอาการดันสุดแรงแล้ว แม้ว่าเมื่อมีการนัดรวมพลังจะได้แสดงพลังให้มากที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ชนะได้ง่าย กล่าวคือ การเสนอความเห็นใดขึ้นมาที่จะเห็นพ้องเป็นมติเสียงส่วนใหญ่ (consensus) มิใช่เรื่องง่าย เพราะคน อปท. มีส่วนได้เสีย (Stakesholder) มากมายหลายกลุ่ม หลายพวก หลากหลายแนวคิด “มีความเห็นต่างเป็นสรณะ” ความเห็นลงตัวจึงยากที่จะเกิด ประกอบกับมีปัญหาคือ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.จังหวัดที่แต่งตั้งกัน มักเป็นมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ แต่เป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” เสียมากกว่า ก็เท่ากับว่าการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นนั้นยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 ที่มุ่งแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นแต่อย่างใด ข้อมูลต่างๆ จึงมีหลากหลายที่ต้องฟังหู ไว้หู แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะเห็นว่า คำสั่ง คสช.นี้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานบุคคลทำให้เกิดปัญหา ไม่สามารถ สรรหาบุคลากร สายงานผู้บริหาร ให้ดำรงตำแหน่งให้ครบตามโครงสร้างของ อปท.ได้ “ก่อให้เกิดตำแหน่งอัตราว่างมากมาย” ดูได้จากจำนวนคนที่มีสิทธิสอบบริหาร และคนไม่มีสิทธิสอบบริหารแต่ต้องรักษาราชการแทนที่มากขึ้น ทำให้การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ลดลง เพราะไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในวิถีชีวิตข้าราชการเช่นข้าราชการพลเรือนทั่วไป แต่ท้องถิ่นก็ต้องมีวิสัยทัศน์จุดยืนที่ค้นหาตัวตนของท้องถิ่นให้ถูกทาง

ดุลพินิจที่มากเป็นช่องทางในการทุจริตแสวงประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ได้

“มหากาพย์การทุจริตท้องถิ่น” จึงเกิดขึ้นได้ต่างๆ กันไป เช่น การฮั้ว หรือ คดีทุจริตของท้องถิ่นที่เจอ หรือ ประเด็นอื่นที่คนทั่วไปคิดไม่ถึง คาดไม่ถึง เพราะไม่เข้าใจบริบทของท้องถิ่น ที่หลากหลาย ไม่น่าจะเกิดขึ้น ก็เกิดได้ เช่น การทุจริตยักย้ายถ่ายเทเงิน ด้วยระบบออนไลน์ เพราะ ให้เจ้าหน้าที่เพียงผู้เดียวเป็นถือรหัสเป็นผู้ดำเนินการ ก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากมายหลายล้าน หรือการใช้รถหลวงในกิจการส่วนตัว นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ในกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตน หรือการทุจริต ในการประเมิน กักเก็บภาษี การออกใบอนุญาตต่างๆ การซิกแซกไม่ตรงไปตรงมา เบิกเงินสวัสดิการ ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าซื้อบ้าน หรือค่าเงินกู้ เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างบ้าน จึงมีหลากหลายรูปแบบ ที่อาจไม่ถูกต้องทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ เป็นต้น

แม้ว่าจะมี “การใช้ดุลพินิจ” ที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบท้องถิ่นกับวงการอื่น เอาว่ากันคร่าวๆ แบบบ้านๆ เช่น ตำรวจและฝ่ายปกครองที่มีช่องทางอาจจะมากหน่อย ด้วยเม็ดเงินที่สูงกว่า จากเงินส่วย เงินสีเทา สีดำ รางวัลนำจับ การออกใบอนุญาต เพราะมีอำนาจให้คุณให้โทษได้มากที่สุดและอยู่ใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชนได้มากกว่าเจ้าหน้าที่อื่น เจ้าหน้าที่สรรพากรมีช่องทางกับส่วนต่างประเมินภาษีเงินได้ นิติบุคคล บุคคลธรรมดา และเงินแวต การตบแต่งสอดใส้ตัวเลขการประเมินให้ดูดี ที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตม.ในรางวัลนำจับ และส่วย เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ก็รางวัลนำจับ ส่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็รางวัลนำจับ แรงงานผี ยักยอกของกลาง เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่อาจมองว่ามีช่องทางน้อย เช่น ทหาร กรมชลประทาน กรมทางหลวง ก็มีเงินทอน มีแรงงานผี งานเหมาตัดช่วง ส่วยทางหลวง ได้เหมือนกันแทบทุกหน่วย ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็อาจมีช่องทางจากการขอใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การรับเหมางานจ้าง การผูกขาดงานการจัดซื้อ ที่ดูจะน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น แต่กลับมีมากมายด้วยเรื่องข่าวการทุจริต ที่พักหลังดูว่าจะมีเหมือนกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วย ในเงินส่วย เงินทอน ใบอนุญาต รางวัลนำจับ การสวมสิทธิต่างด้าว การตกแต่งตัวเลข โบนัส ฯลฯ เมื่อแยกแยะออกมาหลายๆ หน่วยงานแล้ว จะพบว่ามันมีมิใช่น้อย ดังข่าวแปลกว่า บริษัทผลิตรถยนต์ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐได้ ไปถึงตุลาการมีการทำถุงเงินหล่นวางถุงเงินก็มีมาแล้ว แม้ ปตท.และธนาคารไปอยู่ใน สปป.ลาวก็มีข่าวถูกคุกคามจากสีเทาสีดำได้ ข่าวหุ้นลมในกิจการโรงแรม การท่องเที่ยว โรงงาน กิจการต่างๆ ทั้งในประเทศ ในลาว กัมพูชา เมียนมา

แม้ว่าภาครัฐไทยจะเริ่มโปร่งใสขึ้น ผลประโยชน์ตกไปอยู่สาธารณะประชาชนคนไทยมากขึ้น แต่ก็มีข้อสงสัยบ้างจากฝ่ายค้านและผู้เห็นต่าง เช่น การกู้เงินภาครัฐอ้างมาช่วยประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำมาทุกรัฐบาลเงินได้ลงถึงประชาชน 100% หรือไม่เพียงใด

ส่วนรวมหรือส่วนตัวอะไรกันแน่

อาจมีข้อสงสัยว่าประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ส่วนตัว ที่จริงแล้วมันคืออันไหนกันแน่ สิ่งสำคัญคือผู้นำหัวเรือที่ดีต้องพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน มิใช่ว่าทั้งคนที่บอกว่าทำเพื่อส่วนรวม หรือคนที่บอกว่าทำเพื่อ ส่วนตัวกลุ่มตัวเอง กลับไม่เห็นออกมาพูดคุยกันเลย มัวแต่ยึดมั่นถือมั่นทิฐิแขวะกันไปมา รังแต่จะทะเลาะกัน ว่า ใครทำเพื่อส่วนตัว ใครทำเพื่อส่วนรวม กันแน่ บางทีทำเพื่อส่วนรวม แต่แอบแฝงเพื่อส่วนตนก็มากหลาย หรือแอบอ้างบังหน้าให้ดูดีก็มี

เจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นคนที่ทำเพื่อส่วนรวมก่อน ใครที่ทำเพื่อตัวเอง ให้ตัวเองได้ประโยชน์ไม่สมควรที่จะให้อยู่ทำงานต่อไป หากเจ้าหน้าที่ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อคนท้องถิ่นจริงๆ แม้จะมีน้อย ก็ยังทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ คน อปท.ที่อยู่มานาน หากมีความสังเกตอย่างผู้ที่มีความรับผิดชอบ ก็จะสังเกตและรับรู้ตรงจุดนี้ได้ไม่ยาก ว่าใครทำเพื่อตัวเอง ใครทำเพื่อส่วนรวม โดยมองว่า เมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ ทุกคน หรือ ตัวเองก็จะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ กล่าวคือ ผลประโยชน์ตกแก่ส่วนรวม แม้เขาคนนั้นจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็มองออก ยกเว้นคน อปท.ผู้นั้นจะเป็น “พวกหมดไฟ” หรือ พวก “ลู่ลมตามน้ำ” หรือเป็น “พวกหัวกลมหัวเหลี่ยม” ที่อาจตกเป็น “พวกทุจริตขี้ฉ้อ” ได้ง่าย เพราะคน อปท.หลายคนมักขวัญหนีดีฝ่อกับจากเรื่องแย่ๆ ดังกล่าวคือเรื่อง หัวคิวทุจริตเส้นสายทำให้ “ไฟตก” ไม่มีแรงฮึดทำงานขาดขวัญกำลังใจ ขาดระบบการตรวจสอบ ขาดหลักการ ขาดความรับผิดชอบจึงเข้าทาง “การทุจริต และ ทุจริตเชิงนโยบาย” ได้อย่างไม่ยากเย็น เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต่างรอเกษียณ งานไหนทำไม่ได้ก็ลองผิดลองถูกไป โชคดีก็รอดโชคร้ายหน่วยตรวจสอบพบก็รับเวรกรรมกันไป

หลากหลายการล็อกสเปคการจัดซื้อจัดจ้าง

ลองมาเจาะประเด็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) กันดีกว่า “มันดี” ข่าวการตรวจพบการทุจริตในท้องถิ่นต่างๆ ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะที่เป็นงานจ้างก่อสร้าง หรืองานก่อสร้างสิ่งแวดล้อมก็ต้องติดตาม เป็นปัญหาพื้นๆ ที่อาจตรวจสอบติดตามผลงานไม่ยาก ส่วนงานการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่เป็นภารกิจในอำนาจหน้าที่ของ อปท.นั้นมีมากมาย แจกแจงได้หลายประเภท เช่น โครงการวัฒนธรรมประเพณี งานส่งเสริมอาชีพ การศึกษา การสาธารณสุข ก็ควรตรวจตามเรื่องนี้ให้มาก เช่นกันเพราะถือได้ว่า เป็นหัวใจ หลักในการทำงานบริการประชาชน (Public service) ของ อปท. ตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่า “คนเป็นหัวใจสำคัญของงาน” ตำแหน่งหน้าที่จะสูงเพียงใด ในบางเวลาบางสถานการณ์ก็ไม่ได้การันตีว่า บุคคลนั้นจะไม่มีจิตคิดอันธพาล เพราะคนมีกิเลส จริต สันดานได้ทุกตัวตน ได้คนดีมีคุณภาพผลงานด้านบริการประชาชนก็ย่อมดีตาม ที่ผ่านมามีแต่เอาพวกใครพวกมัน พวกเดียวกันถึงโกงก็ว่าดี ต่างพวกถึงทำดีก็ว่าโกงใส่ร้ายป้ายสี จนคนกลางไม่รู้จะเชื่อใครได้ ต้องแก้สันดานพฤติกรรมร่วมโกงตรงนี้ให้ได้

มีตัวอย่างข่าว ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจ อปท.โครงการก่อสร้างถนน ค.ส.ล. งบ 2.2 ล้านบาท เพราะมีข้อร้องเรียนในสเปคเช่น 1)ตะแกรงไวเมชไม่ได้ขนาด กรรมการฯ รายงานผู้เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่แก้ไข 2)ทรายรองพื้นไม่ได้ตามแบบรูปรายการที่อาจจะส่งผลให้เกิดถนน คสล. ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานกำหนด ซึ่งผลงานการก่อสร้างที่ไม่ถูกตามรูปแบบรายการจะทำให้รัฐเสียเปรียบในราคาของสินค้า สูญเสียงบประมาณเกินกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น (ราคากลางไม่สูงเกิน)

ตัวอย่างข่าวการล็อกสเปคด้วยสินค้านวัตกรรมไทย มีข้อมูลใหม่จากสำนักข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อปท.แห่ทำถนนพ่วงติดตั้งโคมไฟนวัตกรรม TOR กำหนดรหัสสินค้าชัดเจน อ้างเป็นนโยบายผู้บริหาร พบว่า อปท.หลายแห่งพ่วงซื้อพร้อมโครงการถนนฯ กำหนดเงื่อนไขทีโออาร์เป็นเนื้องาน ผู้รับเหมาต้องมีเอกสารรับรองจากผู้ผลิตระบุเลขรหัสสินค้าชัดเจน เผยเป็นนโยบายผู้บริหารตามนโยบายของรัฐ โดย อปท. หลายแห่ง ดำเนินงานโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีต แต่มีการระบุเนื้องานให้ผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานต้องดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงบประมาณด้วย บาง อปท.วงเงินงบประมาณสูงถึงเกือบ 10 ล้านบาท ว่าทำไมต้องเจาะจงเป็นสินค้าเสาไฟถนนโคมไฟแอลอีดีพลังงานแสงอาทิตย์ตามรหัสบัญชีนวัตกรรมไทย ที่กำหนดเอาไว้ ทำให้ผู้รับจ้างที่ไม่มีก็ไม่สามารถเข้าร่วมการประกวดราคาได้ ที่ดูแล้วถือเป็นการล็อกสเปคการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะอ้างเป็นวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ตามกฎหมายฮั้ว นั้น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ได้ เพราะ มีการอ้างนโยบายของรัฐบังหน้าไว้ มีข้อสังเกตจะว่าเป็นส่วนดี หรือส่วนเสียก็ตามว่า โคมไฟแอลอีดีพลังงานแสงอาทิตย์มันคนละประเภทกับไฟฟ้าปกติ เพราะไฟถนนแบบนี้ไม่ต้องฝังสายไฟฟ้า และไม่ได้อยู่ในมาตรฐานไฟถนน

โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกตรวจสอบเล่นงานและคิดเป็นมูลค่าเสียหายสูง มักมีต้นตอมาจากกลุ่มผลประโยชน์ส่วนกลางที่คิดให้ใส่พานมาให้ทั้งนั้น เช่น สนามฟุตซอล โคมไฟโซล่าเซลล์ เสากินรี สูบน้ำไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟ ถนนพาราซีเมนต์ ถนนพาราซอยล์ ประปาป๊อกแท็งก์ หรือแม้แต่ลานกีฬาต้านยาเสพติด หรือ งานฝังกลบขยะ เตาเผาขยะ เครื่องคัดแยกขยะ ที่เป็นงานนโยบายรัฐก็ไม่เว้น คน อปท.ต้องไม่หลงทางไปกับคำสั่ง หรือนักวิ่งที่มาสอดงบประมาณใส่มือให้จนโดนคดีหางเลขดังเช่น สนามฟุตซอล เสาไฟฟ้ากินรี-โคมไฟโซลาร์เซลล์ ฯลฯ เพราะพวกวิ่งแค่ให้ได้งาน ได้ใช้เงินโครงการ จะหาประโยชน์แก่นสารยั่งยืนอะไรให้แก่ท้องถิ่นไม่ได้เลย ถึงเวลาที่คน อปท.จะร่วมกันต้านการโกงได้แล้วมั้ง แต่ก็อย่างว่าแหละ คน อปท.มันมีหลายเหล่าเกินกว่าที่จะเห็นร่วมกันได้ นี่ก็คือปัญหาโลกแตก