ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การค้นหาตัวตนบางครั้งก็เป็น “ทำลาย” มากกว่า “สร้างสรรค์” เมื่อการกระทำนั้นดำเนินไปด้วยความไม่รู้
ณิชชานันท์ชอบให้ใคร ๆ เอาใจ อาจจะเป็นด้วยความเป็น “ศูนย์กลางของบ้าน” มาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่ทุก ๆ เข้ามารายรอบและชื่นชมเธออยู่ตลอดเวลา แต่พอเข้าโรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนก็ต้องถูกเข้มงวดมีระเบียบวินัย ตามวัฒนธรรมของโรงเรียน “ผู้ลากมากดี” เก่าแก่แห่งนั้น รวมทั้งบรรยากาศที่มีการแข่งขันระหว่างกันและกันมากขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านการเรียน การกีฬา และความสามารถพิเศษต่าง ๆ และเหมือนณิชชานันท์จะมีพรสวรรค์อยู่ในหลาย ๆ ด้าน คือ “เรียนก็ดี กีฬาก็เด่น เล่นก็สามารถ” จึงทำให้เธอเป็นที่สนใจของใครต่อใครมาโดยตลอด จนบางทีที่เธอกลับมาบ้านหรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีคนรายรอบ ก็ดูเหมือนว่าชีวิตจะไม่ปกติ เพราะคุ้นเคยกับชีวิตที่เป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล” มาโดยตลอด
ชีวิตของเธอเริ่มมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตอนที่มาเรียนในชั้นมัธยมปลาย ที่เธอสอบเข้ามาเรียนตาม “ประเพณีนิยม” ของสังคมสำหรับคนที่เรียนเก่ง ในโรงเรียนที่นักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ทุกคน เพราะระบบของโรงเรียนแห่งนี้จริงจังกับการ “ฝึก” ให้นักเรียนเรียนให้เป็น “สุดยอด” ในการทำข้อสอบ คือจะมีการจัดสอบแทบทุกวันในทุกวิชา การวัดผลตรวจสอบคะแนนเป็นไปอย่าง “แข่งโอลิมปิก” คือมีคะแนนเปรียบเทียบกันแบบ “ไหล่ต่อไหล่” ว่านักเรียนแต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร และคุณครูจะพยายามขจัดจุดอ่อนให้ออกไปให้หมด พร้อมกับเสริมจุดแข็งให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ชีวิตของการเรียนที่นี่จึงตึงเครียด อย่างที่มีนักเรียนนินทาโรงเรียนของพวกเขาเองว่า “ยังกะฝึกหน่วยซีลไปปราบผู้ก่อการร้าย”
ณิชชานันท์ไม่มีปัญหาว่าคะแนนไม่ดี เพราะเธอทำข้อสอบได้ดีในทุกวิชา เรียกว่าอยู่ในระดับ “ท็อปเท็น” ของทุก ๆ คนในแต่ละวิชานั้น ปัญหาของเธอก็คือมีความรู้สึกว่าเหมือนไม่ได้แข่งกับใคร ทุกอย่างที่มีผลออกมาเหมือนกับเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา” สำหรับเธอ โดยที่มีพลิกล็อคหรือผิดคาด บ่อยครั้งเธอจึงรู้สึกเหมือน “ว้าเหว่” ที่ไม่มีใครไล่หลังหรือคอยจี้เธอ โดยเฉพาะคุณครูก็ไม่ได้มาจ้ำจี้จ้ำไชเธอเหมือนกับที่ทำกับเพื่อนของเธอคนอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อเธอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคนก็คิดว่าเธอคงจะสอบเข้าในคณะที่คะแนนสูงสุด แต่เธอก็เลือกที่จะเข้าในคณะที่เหมาะสมกับชีวิตในทางธุรกิจ ที่ครอบครัวของเธอได้วางรากฐานไว้ให้เป็นอย่างดีแล้ว โดยการเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนั้นได้อย่างสะดวกสบาย เพียงแค่ใช้ประวัติการเรียนอย่าวที่เรียกว่า “โปรไฟล์” หรือแฟ้มผลงานและคะแนนผลการเรียนในวิชาต่าง ๆ
ตอนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เธอจำได้ว่าบรรยากาศเปิดกว้างเอามาก ๆ เหมือนกับว่าเป็นโลกอีกโลกหนึ่งนอกจักรวาลที่เธอคุ้นเคยมา ตั้งแต่ “โรงเรียนแม่ชี” ที่เธอเรียนมาตอนเด็ก ๆ และ “โรงฝึกทหาร” ในโรงเรียนมัธยมชื่อดังของประเทศ แต่ในมหาวิทยาลัยคือโลกของ “คนมีของ” โดยแท้ คือใครมีอะไรดี ๆ ในตัวเอง เช่น ร่ำรวย เรียนเก่ง เป็นแชมป์กีฬา สวย ฯลฯ ก็นำ “สิ่งของ” นั้น ๆ ออกมาแสดงให้คนอื่นได้เห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งณิชชานันท์ก็คือ “คลังสมบัติ” ของทุกสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความร่ำรวย ความรู้ ความสามารถ และความสวยงาม ทั้งนี้โดยที่เธอไม่ต้องเอาออกมาอวดหรือบอกให้ใคร ๆ รู้ เพราะเพียงแต่ในวันสองวันที่เธอมาเป็นน้องใหม่ในคณะนั้น เรื่องทุกเรื่องเกี่ยวกับตัวเธอก็มีคนรู้ไปทั้งคณะ
เธอถูกสถาปนาให้เป็น “ดาวน้องใหม่” ในทันที พอมีงานลอยกระทงก็ได้รับโหวตเป็นนางนพมาศ ครั้นถึงงานฟุตบอลประเพณีก็ได้เป็นผู้อัญเชิญสัญลักษณ์ของงานนำขบวน รวมถึงที่มีการประกวดมิสโน่นมิสนี่อีกมากมาย ซึ่งเธอก็ไม่ได้ให้ความสนใจ แม้กระทั่งมิสไทยแลนด์ยูนิเวอร์สที่ว่ากันว่าเป็นสุดยอดของการประกวดสาวงามของประเทศ ที่ต่อไปเมื่อได้เป็นตัวแทนประเทศแล้วก็จะได้ไปประกวดในระดับนานาชาติ และหากชนะเลิศก็จะได้เป็นนางงานจักรวาลต่อไป คำตอบที่เธอตอบเมื่อมีเอเจนซี่มาทาบทามก็คือ “ฉันพอใจในความสวยที่มีอยู่เพียงเท่านี้” หรือแม้แต่จะมีพวกแมวมองมามองหาดาราและให้ไปแคสติ้งโฆษณา เธอก็ไม่ได้ให้ความสนใจอะไร บ่อยครั้งที่เธอตอบคนเหล่านั่นไปว่า กลัวจะสวยไม่นาน และ “มีพอใช้แล้ว”
ชีวิตของณิชชานันท์น่าจะมีสถานะอย่างที่หลาย ๆ คนอิจฉา เพราะน่าจะ “เพอร์เฟ็คต์” สมบูรณ์แบบไปทุกเรื่อง แต่เธอมักจะบอกใคร ๆ ว่า เธอยังต้องการอะไรไปมากกว่านั้น แต่เธอก็นึกไม่ออกว่ามันคืออะไร ในเวลาเดียวกันเธอก็พยายามมองชีวิตของคนอื่น เพื่อมองว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ได้สมบูรณ์เพียบพร้อมเหมือนเธอ เธอเปรียบเทียบตัวเธอกับเพื่อน ๆ ทุกคนอยู่เงียบ ๆ ทั้งภูมิหลังต่าง ๆ นิสัยใจคอ และสภาพแวดล้อม แต่เธอก็ไม่ได้คำตอบว่าทำไมและชีวิตของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ทั้งที่บางคนก็เกิดมาสวยเหมือนเธอ ร่ำรวยเหมือนเธอ รวมถึงที่ความสามารถในหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ได้ด้อยกว่าเธอ จนเธอต้องเลิกคิด เพราะมันไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร นอกจากจะทำให้เธอวุ่นวายใจ และหวาดระแวงทุกคนรอบตัวจนหงุดหงิด
กระทั่งในปีสุดท้ายของชีวิตในมหาวิทยาลัย เธอได้เจอเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเรียนด้วยกันในชั้นมัธยมปลายโดยบังเอิญที่คณะแพทยศาสตร์ เพื่อนคนนี้เรียนเป็นจิตแพทย์ กำลังจะขึ้นชั้นเป็นแพทย์ฝึกหัดในปีต่อไป เพราะพวกนิสิตแพทย์ต้องเรียนเพิ่มอีก ๒ ปี ในตอนที่เจอเพื่อนคนนี้ครั้งแรกก็เป็นงานปาร์ตี้ระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น แต่เมื่อเจอในงานนั้นและคุยกันถูกคอก็มีการนัดคุยกันต่อ ๆ มา ยิ่งเคยเรียนด้วยกันมาก่อนก็ยิ่งสนิทสนมกันได้ง่าย ที่สุดก็สามารถพูดคุยในเรื่อง “ความในใจ” ซึ่งณิชชานันท์คิดว่าเพื่อนคนนี้คงจะไว้วางใจได้
ณิชชานันท์บอกเพื่อนคนนี้ในวันหนึ่งว่า เธอขอปรึกษาปัญหาหนักอกสักเรื่องจะได้ไหม เพื่อนบอกว่าเขาก็รู้อยู่แล้วว่า “มนุษย์สมบูรณ์แบบ” อย่างณิชชานันท์นี้จะต้องหาที่ระบายถามใครสักคน รวมทั้งยังพอจะรู้ต่อไปอีกว่าณิชชานันท์จะถามเรื่องอะไร ซึ่งเพื่อนก็มีคำตอบที่จะให้ไว้พร้อมแล้ว เพื่อนบอกว่าจะไม่ขอพูดศัพท์แสงทางการแพทย์ให้สับสน เพราะถ้าใครไม่ได้เรียนมาด้านนี้ก็จะเข้าใจยาก และจะทำให้รกสมองจนพาลไม่เข้าใจและเบื่อหน่าย ขอพูดภาษาที่เป็นเชิง “เทียบความ” หรือเอาคำที่คนใช้กันอยู่มาปรับใช้เป็นคำใหม่ อย่างชีวิตของณิชชานันท์ที่คนทั้งหลายมองว่า “สมบูรณ์แบบ” นั้น ความจริงเป็นชีวิตที่ “สมบูรณ์บอด” คือมีสภาพของความสมบูรณ์ในทุกอย่างที่อยู่ในตัวตนและรายรอบชีวิต แต่มองไม่ออกว่ามันคืออะไร เหมือนคนตาบอดที่มองไม่เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่รายรอบตัวเอง เมื่อมองไม่เห็นจึงไม่เข้าใจและว้าวุ่นใจ ซึ่งถ้ายังเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ ก็จะทำลายชีวิตของตัวเอง ที่พบเห็นมาส่วนใหญ่นั้นก็จะ “หนีโลก” หรือไปหลบซ่อนอยู่ตามลำพังในที่ที่ไม่มีคนรู้คนเห็น เช่นหนีไปบวช หรือไม่คบหาสมาคมกับใคร เป็นต้น
ณิชชานันท์เล่าให้เพื่อนฟังว่า บ่อยครั้งเธอคิดอยากจะทำนั่นทำนี่ แต่พอคิดก็กลัวว่าคนอื่นจะไม่กล้ามาร่วมมือ เพราะความที่เธอเก่งกว่าหรือรู้มากกว่า แค่นี้เธอก็หงุดหงิดและไม่อยากทำอะไร บางทีเธอคิดว่าที่ทางบ้านจะให้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ เธออาจจะไปตั้งรกรากอยู่ยังต่างประเทสนั่นเลย เพราะที่นั่นน่าจะไม่มีใครรู้จักเธอ และที่สำคัญเธออาจจะค้นพบตัวเองก็ได้
เพื่อนฟังแล้วก็บีบไหล่เธอเบา ๆ ก่อนจะพูดเบา ๆ เหมือนจะเตือนว่า “อันตรายนะ ถ้ายังไม่รู้จักตัวเอง แล้วคิดจะวางอนาคตเป็นอย่างโน้นอย่างนี้”