เมื่อเวลา 09.25 น. วันที่ 5 ม.ค. 2567 นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภาพรวมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ก็จะมีการเอาข้อมูลของแต่ละฝ่ายมาคุยกัน แต่ตอนนี้ตัวเลขของแต่ละท่านยังไม่ตรงกันและไม่ใช่ข้อเท็จจริงสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า งบประมาณทุกโครงการ ของพรรคเพื่อไทยถูกบรรจุไว้ในร่างงบประมาณแล้ว เพียงแต่อาจจะอยู่ข้างในอย่างเช่นงบประมาณของซอฟต์พาวเวอร์กระจายอยู่ทุกกระทรวง ไม่ได้ตั้งงบมาเพื่อซอฟต์พาวเวอร์โดยเฉพาะ
เมื่อถามว่า จะมีการกำชับเสียงรัฐบาล 314 เสียง ในการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ในฝั่งรัฐบาลไม่น่ามี อาจจะมีคนที่ป่วย ซึ่งตนมองในส่วนของฝ่ายค้าน การพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ วาระนี้เป็นวาระแรก เราน่าจะให้ความร่วมมือกัน เพราะงบประมาณที่จะผ่านสภาฯไปเป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น
เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจว่าเสียงพรรครวมฝ่ายรัฐบาลจะไม่มีเสียงแตกใช่หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่น่ามี
เมื่อถามว่า ตัวเลขที่จะโหวตในวันนี้เป็นการสะท้อนเสถียรภาพเอกภาพของรัฐบาลได้เลยใช่หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เราผนึกกันแน่น สังเกตได้จากการอภิปรายของแต่ละคนที่ไม่มีการปกป้อง หรือพูดถึงกระทรวงที่ตัวเองดูแลแต่เป็นการอภิปรายในภาพรวมและแตะทุกกระทรวง
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านยังคงอภิปรายเรื่องของการตบทรัพย์อยู่ นายสรวงศ์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล ซึ่งนายกฯ เคยพูดแล้วว่า การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีอย่างแน่นอน ถามต่อว่า ต้องมีการกำชับ สส.เป็นพิเศษหรือไม่ เพราะแม้ว่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ก็สามารถตรวจสอบจากพรรคได้ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยมีมาแล้วที่เป็นบทเรียน ซึ่งตนมั่นใจว่า สส.แต่ละคนมีวุฒิภาวะพอที่จะปฏิบัติตนอยู่ในกรอบ
เมื่อถามว่า ประเมินบทบาทการอภิปรายของฝ่ายค้านในสภาฯเป็นอย่างไรบ้าง นายสรวงศ์ กล่าวว่าก็ดี อย่าให้ตนต้องให้คะแนนเลย แต่ละคนทำการบ้านมาดี แม้ว่าจะได้เอกสารกระชั้นชิดมีเวลาตรวจสอบตัวเลขประมาณ 9 วันที่อยู่ในช่วงของปีใหม่พอดี
เมื่อถามว่า ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ จะราบรื่นหรือไม่และนายกฯ มีการกำชับอะไรหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่มี นายกฯ ได้บอกให้พวกเรารับฟังและจดประเด็นในสิ่งที่ฝ่ายค้านเสนอแนะมา และพร้อมที่จะไปดูแล และปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้ยังมีสส.บางคนเข้าใจว่า ในชั้นกรรมาธิการสามารถปรับเพิ่มได้ แต่ที่จริงแล้วการทำงบประมาณในชั้นกรรมาธิการไม่สามารถปรับเพิ่มได้มีแต่ปรับลด
เมื่อถามว่า มีการแบ่งสัดส่วนกรรมาธิการงบประมาณกันอย่างไร นายสรวงศ์ กล่าวว่า น่าจะมีการเสนอตั้งกรรมการวิสามัญทั้งหมด 72 คน แบ่งเป็น ครม. 18 คน และสส.54 คน โดยจากทุกพรรค พรรคเพื่อไทย 15 คน พรรคภูมิใจไทย 8 คน ส่วนพรรคคนอื่นก็ลดหลั่นกันไป ทั้งนี้ในวันที่ 8 ม.ค.จะมีการประชุมนัดแรก ซึ่งจะมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆในกรรมาธิการและประชุมกันในช่วงบ่าย สำหรับกรอบการพิจารณาจะประมาณ 3 เดือน ถ้าดูตามปฏิทินของงบประมาณ จะเข้าสูวาระ 2 วาระ 3 วันที่ 3-4 เม.ย. เมื่อเสร็จสิ้นก็จะส่งให้สว. และส่งกลับให้ครม. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเราน่าจะใช้ได้ใช้งบปี 67 ปลายเดือนเม.ย.หรือต้นเดือน พ.ค. ซึ่งล่าช้าไปมาก
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมฝ่ายค้านท้วงติงว่านายกรัฐมนตรีจะไม่กู้เงินมาทำโครงการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะมีการชี้แจงอย่างไร นายสรวงศ์ กล่าวว่า รอให้รัฐมนตรีคลังเป็นคนชี้แจงรายละเอียดดิจิทัลวอลเล็ตดีกว่า พวกเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้องก็มีสิทธิที่จะทักท้วงได้
เมื่อถามว่า ดูแล้วเหมือนจะเป็นการดิสเครดิตนายกฯ เพราะนายกฯ บอกว่าจะไม่กู้เงิน นายสรวงศ์ กล่าวว่า ถือเป็นสิ่งที่คนนอกมองเข้ามา เพราะเมื่อเราเข้ามาดูตัวเลขจริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เป็นตามที่คนนอกมองก็ได้ เพราะฉะนั้นให้ทางฝ่ายบริหารเป็นผู้ชี้แจงดีกว่า ถ้ามีการเสนอพ.ร.บ.กู้เงินเข้ามา เราในฐานะสส. ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็มีสิทธิตรวจสอบทั้งนั้น
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหารของพรรคเพื่อไทย มั่นใจว่าประชาชนจะได้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตใช่หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ได้ใช้แน่นอน ตนมั่นใจอย่างนั้น เพราะเราพูดกับประชาชนไว้ ที่สำคัญคือ คนที่เป็นสส. เขต จะรู้ดีว่าประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดมีความเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งเศรษฐกิจโลกค่อนข้างที่จะตกต่ำ ดังนั้นถ้าเราไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเราก็จะแย่แน่นอน
เมื่อถามว่า แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา จะชี้ไม่ควรเดินหน้าต่อ ก็จะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เราทำตามคำชี้แนะธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอยากให้เข้าใจว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อเอามาเป็นแบคอัพ ไม่ใช่กู้เงินเอามาแจก ซึ่งการที่รัฐบาลมีโครงการนี้ เพื่อต้องการให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ โดยการใช้ระบบดิจิตอล ความจริงมันคือเงินบาทเพียงแต่ถูกส่งให้ประชาชนใช้งานในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งตราบใดที่ไม่มีการเบิกเงินออกมาเงินจำนวนนี้ก็ยังคงอยู่