สุดยอดแห่งงานศิลปะที่ส่งอิทธิพลต่อรูปแบบพระพุทธรุปและพระเครื่องในยุคต่อต่อมา ได้แก่ ‘ซุ้มเรือนแก้ว องค์พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ จ. พิษณุโลก’ อันนับเป็นมรดกทางพุทธศิลปะที่งดงามและมีเอกลักษณะเฉพาะตัว
ซุ้มเรือนแก้ว องค์พระพุทธชินราช เป็นงานศิลปะสมัยอยุธยาซึ่งผสมผสานฝีมือช่างชั้นครูทางเหนือ ที่เรียกว่า ‘งานจำหลักไม้ ปิดทอง’ ตัวเรือนทำจากไม้สัก ยอดบนเป็นปลายหางตัว "มกร" ประกบกัน คล้ายช่อฟ้า ก่อนจะทอดยาวเป็นลายอ่อนช้อยครบองค์ประกอบของเครื่องสูง ไม่ว่าจะเป็นการขยักลำตัวในลักษณะงวงไอยรา การจำหลักครีบตั้งขึ้นมาเป็นใบระกา ก่อนจะกระดกหัวเป็นมกรคายพวกอุบะโค้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างคายสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่งมีลำตัวยาวคล้ายนาค แต่ท่อนหัวซึ่งอยู่สองฟากองค์พระกลับทำเป็นรูปตัวสัตว์ที่มีงวงคล้ายคชสารมีขาคล้ายราชสีห์ เข้าใจว่ามิได้สร้าพร้อมองค์พระพุทธชินราช แต่ได้รับการปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
หากพิจารณาตามศิลปะของ ‘ซุ้มเรือนแก้ว’ แล้ว จะมีข้อถกเถียงกันว่า ตัวที่ถูกจำหลักขึ้นทำเป็นเรือนซุ้มนั้นเป็นตัวอะไรกันแน่ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ในส่วนที่ตวัดขึ้นเป็นพว
อุบะทั้งสองฟากพระอังสานั้น ทำเป็นรูปสัตว์ที่เราเรียกว่า “มกร” หรือ “เหรา” โดยมีงวงตวัดขึ้นและแสดงให้เห็นฟันที่อ้าเผยออก ส่วนตัวด้านล่างนั้น บ้างก็บอกว่าเป็นตัวมกรหรือเหราเช่นกัน หากทำผิดแผกไปจากฝีมือช่า
ทางเหนือ แต่พิจารณาแล้วมีลักษณะเหมือนกับสัตว์ที่เรียกว่า “ตัวทักทอ (ทัก-กะ-ทอ)” คือ เหมือนกับตัวคชสีห์อันเป็นสัตว์ผสมระหว่างช้างกับราชสีห์ หากแต่มีขนาดเล็กกว่า และตัวทักทอจะมีขนบนหัวกระดกตั้งขึ้น รวมทั้งมีเครา นับเป็นสัตว์หิมพานต์ในจินตนาการที่หาดูไม่ใคร่ง่ายนัก
การสร้าง “พระพุทธรูปปางซุ้มเรือนแก้ว” อุบัติขึ้นหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ 4 โดยเทพยดาได้เนมิต ‘ซุ้มเรือนแก้ว’ ขึ้นทางทิศเหนือของโพธิบัลลังก์อันเป็นที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงทรงเสวยวิมุติสุขบนบัลลังก์ซุ้มเรือนแก้วเป็นเวลา 7 วัน เรียกว่า "รัตนฆรเจดีย์”
" ด้วยความเป็นเอกทางศิลปะของช่างโบราณ ‘ซุ้ม’ จึงถูกจำหลักขึ้นเป็นครีบของมกร และสื่อให้เห็นถึงการเปล่ง "ฉัพพรรณรังสี" ออกจากวรกายของพุทธองค์ อันประกอบด้วยรังสี 6 ชนิด ได้แก่ 1.นีตะ สีเขียวเข้มเหมือนดอกอัญชัน ดอกสามหาว หรือกลีบบัวเขียว 2.ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง หรือ ทองคำ 3.โลหิตตะ สีแดงดุจตะวัน สีดั่งผ้ากัมพล ดอกราชพฤกษ์ ดอกทองกวาว 4.มัญเชฏฐา สีหงสบาทอันหมายถึงสีม่วงเหมือนดอกเซ่ง หรือดอกหงอนไก่ 5.โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน หรือน้ำนม 6.ประภัสสร เป็นสีเลื่อมพราย เหมือนแก้วผลึก
มีข้อสังเกตว่า ‘ซุ้มเรือนแก้ว’ อาจจะเป็นพัฒนาการขั้นต้นๆ ของ "สินเทา" หรือ การแบ่งช่องบนงานจิตกรรมฝาผนังของไทยโบราณ โดย ‘สินเทา’ จะเป็นรอยขยักทำให้ภาพเกิดมิติระหว่างในซุ้มกับนอกซุ้ม ดังนั้นซุ้มเรือนแก้วจะช่วยให้องค์พระดูมีมิติหรือมีความลึก อันทำให้องค์พระดูงดงามและสมจริงมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นมรดกทางภูมิปัญญาของช่างโบราณอย่างยอดเยี่ยม
นอกจากนี้ยังมี “อกเลา” หมายถึงแท่งไม้หรือส่วนที่ทำเป็นแนวยาว เพื่อใช้เป็นตัวประกบระหว่างบานประตูสมัยก่อน และจะมีตัวกลางไม้ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในทางตะแคงกั้นอยู่กึ่งกลาง ตัวสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนนี้ โบราณเรียก "นมเลา" หรือ "นมอกเลา" ปัจจุบันเรียกกร่อนเพี้ยนกลายเป็นอกเลาเสียหมดแล้วหน้าที่ของ “นมอกเลา” คือตัวกั้นไม่ให้คนภายนอกงัดแงะไม้คานที่พาดปิดประตูด้านในได้สะดวก นิยมทำตามบ้านเรือนไทยโบราณ บ้านชนชั้นสูง หรือ ตาม วัด และ วัง
นมอกเลา ที่ วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก นั้น ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์แห่งอยุธยา ที่โปรดให้ทำบานประตูวิหารโดยการ "ประดับมุก" ซึ่งนับเป็นบานประตูประดับมุกที่งดงามที่สุดในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงขนาดทรงตรัสถึงนมอกเลาที่นี่ ในคราวเสด็จนมัสการพระพุทธชินราชว่า "นี่แหละ ของวิเศษมีอยู่ที่นี่" สาเหตุที่ตรัสเช่นนี้นอกจากความงดงามแห่งศิลปะที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนแล้ว ยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า นมอกเลา นี้ คนโบราณนิยมอาราธนานำผ้าขาวบางมาวางทาบแล้วซับด้วยหมึก เพื่อนำติดตัวไปออกศึกสงคราม หรือเป็นเครื่องรางชั้นสูงในหมู่ประชาชนทั่วไป
นมอกเลา หน้าวิหารฯ จะถูกประดับมุกเป็นรูป ‘หนุมานแบกบุษบก’ ภายในบุษบกประดิษฐานด้วย "อุณาโลม" หมายถึง พระโลมาระหว่างพระขนง หรือ ขนระหว่างคิ้ว ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นหนึ่งในลักษณะของมหาบุรุษ ตามคัมภีร์มหาปุริษลักขณะ ที่ส่งผลให้ทวีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ที่ทำเป็นรูปหนุมานนั้น สื่อถึงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ ซึ่งได้แก่ ‘พระราม’ บัญชาให้หนุมานทหารเอกทูนแท่นบุษบกมีอุณาโลมมาถวายองค์พระพุทธชินราช เข้าใจว่า คงจะทรงซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดและองค์พระ ตลอดจนอาจจะมีการถวายพระอุณาโลมไปด้วยในคราวเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันคงไม่เห็นพระอุณาโลมซึ่งปฏิสังขรณ์สมัยนั้นแล้ว
การประดับมุกบานประตูวิหารพระพุทธชินราช เป็นฝีมือช่างหลวงชั้นครู สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยบรมราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏคำจารึกที่บานประตูด้านขวามือว่า "ให้ช่าง ๑๓๐ คน เขียนลายประดับมุกที่บานประตูเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ.๒๒๙๙ ลงมือประดับมุกเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ รวมเป็นเวลา ๕ เดือน ๒๐ วัน จึงแล้วเสร็จ"
งานประดับมุกเป็นปราณีตศิลป์ชั้นสูงโดยใช้ ‘มุก’ ซึ่งได้แก่ เปลือกหอยทะเล เช่น หอยอูด หอยนมสาว นำมาเจียระไนเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งจะเกิดประกายเลื่อมพราย และติดลงบน ‘รัก’ ที่ต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก บานประตูจะประดับมุกเป็นลายกนก ผูกเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินนร ในวงกลมที่เรียกว่า “ลายอีแบะ” ด้านละเก้าวง มีกนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม มีลายกรวยเชิงด้านบน และลายประจำยามก้ามปูประดับรอบบานประตู มุกที่ใช้เป็นมุกที่ไวต่อการสะท้อนแสงคนโบราณเรียก "มุกไฟ"
ลายนมเลา วิหารพระพุทธชินราช ได้รับความนิยมอัญเชิญมาประดับบนวัตถุมงคลต่างๆ อาทิ ใต้ฐานพระพุทธชินราชอินโดจีน ตามเหรียญพระพุทธชินราชหลังอกเลาประเภทต่างๆ หรือตามฐานผ้าทิพย์ก็มีปรากฏให้เห็น นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างความศรัทธาและความภาคภูมิใจ ให้กับชาวพิษณุโลก และชาวไทยทั่วประเทศครับผม
โดย ราม วัชรประดิษฐ์