ปัญหายาเสพติด นับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมที่รุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการ รวมถึงนโยบายต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การลักลอบหรือขนส่งยาเสพติด ถูกจำกัดด้วยเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นขอบเขตและชายแดน หรือความท้าทายของการขนส่งทางอากาศที่มีความถี่น้อยลง สาเหตุเหล่านี้ทำให้รูปแบบและเส้นทางการค้ายาเสพติด มีความยืดหยุ่นและหลากหลายขึ้นกว่าแต่ก่อน การใช้เส้นทางเดินเรือเพื่อลำเลียงยาเสพติด ขนส่งสินค้าทางไปรษณีย์ และการติดต่อซื้อขาย ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ พบว่ามีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการลำเลียงขนส่งยาเสพติดให้สอดคล้องกับมาตรการปิดกั้นพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาสารเสพติดรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ยารายใหม่และเยาวชน 


การเคลื่อนย้ายยาเสพติดจากแหล่งผลิตประเทศเมียนมาและนำเข้าผ่าน สปป.ลาว ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย จึงทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับ สปป.ลาวได้มากขึ้น เช่น จังหวัดเชียงราย พะเยา ตลอดจนจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย และมุกดาหาร ขบวนการลักลอบยาเสพติดที่พบมากขึ้น ส่งผลให้ยาเสพติดถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อซื้อขายยาเสพติด โดยผู้ขายสามารถติดต่อผู้ซื้อได้โดยตรง รวมถึงการนัดแนะช่องทางการจัดส่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงยาเสพติดได้อย่างง่ายดาย


ตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นการใช้ทุกมาตรการทางกฎหมายเพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติด และยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ประกอบกับนโยบายของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เดินหน้าปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้อง กับยาเสพติด ด้าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์รอง ผบ.ตร.(ผอ.ศอ.ปส.ตร.)กำหนดนโยบายหลักในการสืบสวนปราบปรามทำลายเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ให้สิ้นซาก  

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 นายชาดา ไทยเศรษฐ์รมช.มหาดไทย พร้อม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ  พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศอ.ปส.ตร., พล.ต.ท.สำราญ นาลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส., พล.ต.ท.คีรีศักดิ์  ตันตินวะชัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว, พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง, พล.ต.ต.พลัฎฐ์ วิเศษสิงห์ รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต. ธนรัชน์ สอนกล้าผบก.ปส.2, พล.ต.ต.อดิศ เจริญสวัสดิ์ผบก.ปส.3, พล.ต.ต.พรศักดิ์  สุรสิทธิ์ ผบก.ปส.4, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส. และ พล.ต.ต.วิทัศน์ บริรักษ์ ผบก.สกส, , สำนักงาน ป.ป.ส. และ พ.อ.สุพจน์ สวาคฆพรรณ ผบ.ขกท.ศปก.นสศ. อนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล จับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดภาคเหนือ พบซุกยาบ้า 10 ล้านเม็ด รวบผู้ต้องหา 5 ราย และยึดยาบ้า10 ล้านเม็ด


พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ   กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.66 บช.ปส. โดย กก.2 บก.ปส.3 และ บก.ขส.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นปส.ขกท.ศปก.ทบ.(ขกท.ศปก.นสศ.) ร่วมกันสืบสวนติดตามพฤติกรรมเครือข่ายลำเลียงยาเสพติดจากภาคเหนือจากการข่าวทราบว่าจะใช้รถกระบะลักษณะตีคอก ก 13XX (ป้ายแดง) กำแพงเพชร และ รถกระบะอีซูซุ ยX 81XX เชียงใหม่ ลำเลียงยาเสพติดจาก จ.เชียงใหม่ ลงไปยังพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยอำพรางด้วยพืชผลทางการเกษตร ต่อมาพบความเคลื่อนไหวของเครือข่ายขับรถกระบะ ก 13XX (ป้ายแดง) กำแพงเพชร เข้าไปรับ ยาเสพติดบริเวณ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จากนั้นได้มุ่งหน้าสู่พื้นที่ภาคกลาง โดยมีรถยนต์อีซูซุ ยX 81XX เชียงใหม่ ขับนำทางและนำมาจอดทิ้งไว้ที่บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา   จากนั้นมีรถเก๋งฮอนด้า ญX 28XX กรุงเทพ ขับรถมาจอดที่หน้ารถกระบะ ก 13XX(ป้ายแดง) กำแพงเพชร แล้วมีคนลง จากรถเก๋งแล้วขึ้นไปขับรถกระบะลักษณะตีคอกฯออกไป โดยมีรถเก๋งขับนำทางไป ต่อมาพบรถกระบะ ก 13XX (ป้ายแดง)กำแพงเพชร ขับมาจอดภายในซอยหมู่บ้านฉัตรนคร แขวง/เขตประเวศ กรุงเทพฯ ตำรวจชุดจับกุมจึงแสดงตัวขอตรวจค้น จากการตรวจค้นรถกระบะลักษณะตีคอก พบมีการใช้กล้วยน้ำว้าจำนวนมาก มาวางปิดทับซุกซ่อนกระสอบบรรจุยาบ้า จำนวนประมาณ 10 ล้านเม็ด จึงจับกุมผู้ต้องหาซึ่งทำหน้าที่ขับรถ จึงจับกุมผู้ต้องหาซึ่งทำหน้าที่ขับรถบรรทุกยาเสพติดและรถนำทั้งหมด จำนวน 5 คน พร้อมรถยนต์ 3 คัน ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี


ปฎิบัติการภายใต้แผน “ตามล่า 100 เครือข่าย”คดีนี้พบว่าผู้ต้องหาเครือข่ายนี้มีการรับยาเสพติดจากในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยใช้รถยนต์กระบะลักษณะตีคอก และใช้กล้วยซึ่งเป็นผลผลิตการเกษตรของชาวเขาตามแนวชายแดนปิดทับซ่อนไว้ เช่นเดียวกับการจับกุมเมื่อก่อนหน้าเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ตำรวจ บก.สกส.บช.ปส. จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมยาบ้า จำนวน 13.4 ล้านเม็ด ที่ด่านตรวจ จว.ชุมพร ซึ่งใช้รถกระบะมีคอกใช้กล้วยปิดทับและมีการรับยาบ้ามาจากพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่เช่นกัน สำหรับ อ.เชียงดาว เป็นหนึ่งใน 5 อำเภอ ตามแนวชายแดนของ จ.เชียงใหม่ ที่พบการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเป็นประจำ ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จะสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีและยึดทรัพย์ผู้สั่งการทั้งสองคดีนี้ให้ได้โดยเร็ว และจะดำเนินการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดที่พื้นที่ชายแดนอย่างจริงจัง โดยจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมาย

โดยเฉพาะในพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งกำหนดสถานะของพื้นที่ชายแดนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในพื้นที่ชายแดน 15 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ 6 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย 5 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ และ 4 อำเภอของ จ.นครพนม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาภายในประเทศ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการสกัดกั้นตามแนวชายแดนประกอบกับกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลในทุกพื้นที่ โดยพบว่าผู้มีอิทธิพลส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ต้องดำเนินการปราบปรามโดยเร่งด่วน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลไกในระดับพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยได้เปิดปฏิบัติการ(Kick Off) ปราบปรามผู้มีอิทธิพล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 66 ที่ผ่านมานี้ 


ซึ่งการจับกุมในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกัน “แยกปลาแยกน้ำ”ระหว่างผู้เสพผู้ค้า ดำเนินการปราบปรามผู้ค้า ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างจริงจัง เพื่อเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง สำหรับเดือน พฤศจิกายน 2566 ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ได้จับกุมขบวนการค้ายาเสพติด รายสำคัญ 21 คดี ผู้ต้องหา 42 คน ของกลาง ยาบ้า 36,351,455 เม็ด, ไอซ์ 125.84 กก. เฮโรอีน 11.87 กก., โคเคน 3.229 กก. และตรวจยึดทรัพย์ ไว้ตรวจสอบมูลค่าประมาณ 24,680,000 ล้านบาท