ด้วยเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้จำนวนคนที่เดินทางออกมานอกประเทศในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวทางด้านโครงสร้างการตลาด เป็นอย่างมาก จึงทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องหาแนวทางทางที่แตกต่างไปจากเดิม สอดรับกับนโยบายของภาครัฐในปี 2567 มุ่งเน้นไปที่ ยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์ดึงนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอด 365 วัน เพื่อเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงในปี 2562
เป้าหมายนทท.ต่างชาติ 40 ล้านคน
โดย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทย 28 ล้านคน โดยมีเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 เป็น 40 ล้านคน
ซึ่งนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา กล่าวว่า ในปี 2562 เป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเฟื่องฟูที่สุด มีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคนสร้างรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนตลาดใกล้ 77 % ส่วนตลาดระยะไกลที่เหลือประมาณ 23% แต่รายได้ตลาดระยะไกลในปี 2562 ได้ประมาณ 30% จากตลาดระยะไกล และอีก 70%จากตลาดระยะใกล้
แต่หลังจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิดตลาดระยะไกลฟื้นตัวได้ดีกว่า เพราะคนในต่างประเทศได้รับวัคซีนเร็วกว่าเพราะฉะนั้นจึงอยากจะเดินทาง ดังนั้นในปีที่ไทยเริ่มเปิดประเทศตลาดระยะไกลจึง มีประมาณ 70% และแนวโน้มของตลาดด้านนี้ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะสายการบินยังให้บริการอยู่ตลอดจึงทำให้ปี 2565 ตลาดระยะไกลก็ยังมีแนวโน้มของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 40% ส่วนระยะใกล้อยู่ที่ประมาณ 50-60% และเทรนด์นี้แนวโน้มยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน จนถึงวันนี้ในปี 2566 ภาพรวมอยู่ที่ 25-28 ล้านคน แบ่งเป็นสัดส่วนระยะไกลอยู่ที่ 7 ล้านคน ประมาณ 28% มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 35% ซึ่งสูงกว่าปกติ
ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศไทยโชคดี ได้ความร่วมมือจากภาคเอกชนทำให้ทุกคนไม่ต้องพึ่งพิงกับตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลัก สามารถมีตลาดเสริม ตลาดทดแทนเข้ามาช่วยเติมเต็มประเทศที่เดินทางมาไม่ได้ จึงทำให้เวลานี้ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ประมาณ 25 ล้านคน และที่สำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปสูงขึ้นจากปีก่อนมีสถานการณ์โควิด
โดยในปี 2562 รายได้ต่อคนต่อทริปในตลาดระยะไกลใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท ส่วนระยะใกล้ประมาณ 2-3 หมื่นบาท และอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 48,000 บาท แต่เวลานี้นักท่องเที่ยวระยะไกลอยู่นานขึ้น เพราะค่าโดยสารแพง ดังนั้นจึงทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยขึ้นไปที่ 5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป และใช้เวลาในการพักอาศัยนานขึ้นประมาณ 20 วัน ใช้จ่ายต่อคนต่อทริปประมาณ 90,000-100,000 บาทในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวเวลานี้ เกิดจากนโยบายประเทศ ปัจจัยเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาๆ หนึ่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ เมืองไทยจะเป็นประเทศที่จะเที่ยวได้ทั้งปี ด้วยนโยบายของทางรัฐบาลที่จะผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวได้ทั้งปี ซึ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นจะพิสูจน์ได้ด้วยตัวเลข โดยช่วงที่ผ่านมาตัวเลขที่เกิดจากนักท่องเที่ยวเลือกมาในช่วงซีซั่นต่างๆ เริ่มน้อยลง จึงทำให้ทางรัฐบาล และทางททท.นำข้อมูลดังกล่าวมาทำตลาดเที่ยวได้ทั้งปี
โครงสร้างนทท.ต่างชาติเปลี่ยน
ขณะที่ นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด โดยเป็นนักท่องเที่ยวประเภท FIT ร้อยละ 86 และนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ร้อยละ 14 ดังนั้นทางททท.ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน ภายใต้กลยุทธ์ 2Q และ 4 New โดย 2Q ประกอบด้วย 1.Quick Win ฟื้นคืนฐานตลาดกลุ่มกระแสหลักโดยกระต้นกลุ่มเดินทางซ้ำ ขยายฐานกลุ่มเดินทางครั้งแรก และส่งเสริมการเดินทางในช่วงโลว์ซีซั่น และ 2.Quality เพิ่มจำนวนและกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มความสนใจพิเศษ อาทิ Health & Wellness, Wedding & Honeymoon, Sport Tourism, Luxury, Sub-Culture เป็นต้น โดยได้กำหนดแผนระยะเร่งด่วนด้วยการเตรียมดำเนินการจัดกิจกรรม Media and Agent Fam Trip นำสื่อและบริษัทนำเที่ยวจากทั้งเมืองหลักและเมืองรองของจีนเข้ามาสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยว
ขณะที่ นางสาวสมฤดี จิตรจง ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปี 2567 ททท.ได้ถูกตั้งเป้าในเรื่องของตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งรวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย และชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในเมืองไทยในเกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 1 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นในภาพรวมของปี 2567 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ล้านล้านมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนอีก 1 ล้านล้านบาทมาจากนักท่องเที่ยวในประเทศ
ซึ่งในส่วนของ ททท.วางไว้ว่า จะทำอย่างไรจึงทำให้มีรายได้ 1 ล้านล้านบาท หรือรายได้ที่เกือบเท่าปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิดจะระบาด ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและยากมา สำหรับตลาดในประเทศในสภาวะประเทศไทยที่มีคู่แข่งกันในต่างประเทศ ที่เริ่มใช้งบประมาณมากระตุ้นให้คนไทยไหลออกนอกประเทศ
แต่ในมุมของททท.ปรากฏการณ์การเดินทางเข้าและออกเป็นสิ่งที่ดี เป็นการเชื่อมโยงในเรื่องของท่องเที่ยว เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยที่เดินทางต่างประเทศแล้ว กลับเข้ามาเดินทางในประเทศด้วย ดังนั้นแผนตลาดในปี 2567 ที่จะกระตุ้นการเดินทางภายใต้แนวคิดของนายกรัฐมนตรีให้ไว้ คือ เดินทางท่องเที่ยวได้ 365 วัน
โดย 365 วันนั้นจะใช้แผนการตลาดภายใต้ 5 Fที่เป็นตัว ซอฟท์พาวเวอร์ ทั้งเรื่อง ฟู๊ด มาเล่าเรื่องให้ลึกขึ้นน่าสนใจ ซึ่งปี 2567 จะเน้นในเรื่องของการบริโภคที่ถูกต้องตามฤดูกาล คือ พืชผักผลไม้ตามฤดูกาล จะลดการใช้สารเคมี รวมทั้งจะเน้นในเรื่องของอาหารเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรปลอดสารพิษ อันนี้ไม่เน้นเพียงเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาบริภาคอย่างเดียว แต่จะเน้นในเรื่องของผู้ผลิตด้วย
ทั้งนี้จะจับมือกับผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ อย่างเช่น แพลตฟอร์ม “โทก้า. ตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ผลิต และปลายทาง คือ ร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดูรายละเอียดในแพลตฟอร์มดังกล่าวถึงโครงสร้างต่างๆ ของพืชผักผลไม้นั้นได้อย่างดี
ขณะที่ในส่วนของ ฟิล์ม หรือภาพยนตร์นั้น ด้วยประเทศไทยเป็น ประเทศที่เป็นจุดหมายในเรื่องของการถ่ายทำ ดังนั้นจึงมีการนำเรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่ที่ได้รับการถ่ายทำภาพยนตร์ตรงนี้เข้ามาเชิญชวนให้เกิดการท่องเที่ยว อย่างเช่น ภาพยนตร์เดอะ ครีเอเตอร์ ซึ่งถ่ายทำในประเทศไทยถึง 90% ส่วนหนังไทยก็จะมีหลายเรื่อง สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ ขึ้น
ด้าน แฟชั่น จะนำเรื่องผ้าไทย มากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เรื่องของนวัตกรรมทางความคิด เรื่องของการออกแบบเพื่อให้ไปสอดรับกับยุคสมัยมากขึ้น รวมกับเรื่องเล่าของลายผ้าแต่ละชิ้น และฟิตแอนด์เฟิร์ม หรือเวลเนส เป็นเรื่องของภูมิปัญญาไทยตรงนี้เป็นจุดแข็งของไทย แต่จะเน้นเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยแพทย์แผนปัจจุบัน รวมกับแพทย์แผนโบราณ รวมถึงในเรื่องของวิทยาการใหม่ๆที่ดูแลร่างกายให้กับตัวเอง
ส่วนตัวเฟสติวัล หรือเทศกาลสำคัญๆ ถือเป็นนโยบายหลักของนายกรัฐมนตรีเช่น งานเฉลิมฉลองเฟสติวัล วันสงกรานต์ ประเพณีปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา เป็นการเสนอขอขึ้นทะเบียนรายการนี้โดยประเทศเดียว เป็นต้น