สปสช. ย้ำหมุดหมายเข้าสู่ปีที่ 22 ของระบบบัตรทอง เร่งเดินหน้าเพิ่มความสะดวกผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั้งด้านสิทธิประโยชน์และด้านการเข้าถึงบริการ 7 ม.ค. 2567 นำร่อง 4 จังหวัดใช้บัตรประชาชนไปรักษาที่ไหนก็ได้ พร้อมดึงคลินิกเอกชนเข้าร่วมดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองให้มากขึ้น
วันที่ 3 ม.ค.67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 22 ซึ่งตลอด 21 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จส่วนหนึ่งคือการทำให้ประชาชนมีสิทธิในการรับบริการสุขภาพ ซึ่งถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีก็ยังมีความท้าทายในเรื่องความสะดวกในการเข้ารับบริการ เพราะแม้มีสิทธิแล้ว แต่ถ้าประชาชนไม่สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้น สิ่งที่ สปสช. จะดำเนินการต่อ คือเรื่องการยกระดับเพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
นพ.จเด็จ ขยายความว่า คำว่าความสะดวกนี้ แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.สะดวกจากสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ โดย สปสช. ได้สรรหาสิทธิประโยชน์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น การเก็บสิ่งส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง หรือตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเอง เป็นต้น สิทธิประโยชน์เหล่านี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกโดยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล 2.สะดวกในการเข้ารับบริการ ที่ผ่านมาเวลาเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เพิ่มบริการได้มากขึ้น เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยไปร้านยา หรือคลินิกพยาบาล หรือ รับบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีน และถ้าจำเป็นต้องเจาะเลือดก็มีบริการไปเจาะเลือดให้ที่บ้าน มีบริการทำกายภาพบำบัดให้ที่บ้าน เป็นต้น ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น
“เหล่านี้ คือ 2 ประเด็นที่ สปสช. ขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน และส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วและจะขยายให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราผูกผู้มีสิทธิบัตรทองไว้กับหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่ก็จะมีบางส่วนประมาณ 20% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดอาจต้องการไปรักษาที่อื่น หรือบางครั้งต้องเดินทางไปต่างพื้นที่แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ เราก็อำนวยความสะดวกให้ท่าน โดยเริ่มจากการยกระดับบัตรทองใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จ.แพร่ จ.เพชรบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการได้ทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช.” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดำเนินการเช่นนี้ได้ ปัจจัยสำคัญคือข้อมูลบริการจะต้องเชื่อมต่อกัน ให้หน่วยบริการสามารถดึงประวัติการรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลบริการของโรงพยาบาลรัฐไว้บนระบบคลาวด์แล้ว ส่วน สปสช. จะเสริมในส่วนการพัฒนาระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการให้เร็วขึ้นและลดภาระหน่วยบริการให้มากที่สุด รวมทั้งการดึงหน่วยบริการในสังกัดอื่น และภาคเอกชน ให้เข้ามาร่วมดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย โดย สปสช. จะสนับสนุนตั้งแต่ระบบการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช. แบบ One Stop Service ช่วยลดภาระเอกสารและรับรองผลอย่างรวดเร็ว สนับสนุนโปรแกรมการเชื่อมข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายค่าบริการ และระบบการจ่ายเงินที่รวดเร็วใน 3 วัน เพื่อให้หน่วยบริการมีเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
“ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการเชื่อมข้อมูลแล้ว แต่ในส่วนของหน่วยบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐใน 4 จังหวัด ยังคงทยอยสมัครเข้าร่วมให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมของหน่วยบริการแต่ละประเภทมีจำนวนการสมัครเข้าร่วมแล้ว อาทิ คลินกเวชกรรม 479 แห่ง ร้านยา 461 แห่ง คลินิกการพยาบาล 331 แห่ง คลินิกทันตกรรม 131 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 32 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 25 แห่ง และคลินิกกายภาพบำบัด 15 แห่ง เพื่อร่วมนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว