มองสถานการณ์โลก / By Benedict

คณะรัฐมนตรีของนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอนุมัติงบกลาโหมจำนวน 7.95 ล้านล้านเยน (5.6 หมื่นล้านดอลลาร์) สำหรับปีงบประมาณ 2024 เมื่อวันที่22 ธันวาคม โดยเพิ่มเป็นสถิติสูงเป็นประวัติการณ์เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก  กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นยื่นของบประมาณสำหรับปี 2024 มากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมจำนวน 43 ล้านล้านเยน (10.3 ล้านล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 5 ปีทางกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นมีแผนที่จะใช้เงินจำนวน 900,000 ล้านเยน หรือประมาณ 215,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และกระสุนปืน รวมถึงพัฒนาขีปนาวุธสกัดกั้นร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และ การสร้างเครื่องบินรบรุ่นใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับอังกฤษและอิตาลี

การยื่นเสนอของบประมาณด้านกลาโหมสำหรับปีหน้าในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีน ค่อนข้างเปราะบาง โดยมีสาเหตุมาจากกรณีที่ญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจและออกมาประกาศตอบโต้ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

สำหรับการใช้จ่ายด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 10 ปีของญี่ปุ่น เกิดขึ้นหลังจากมีความกังวลต่อหลายปัจจัยทั้งศักยภาพการรบทางทะเลของจีน และความเคลื่อนไหวทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน รวมถึงอาวุธที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นของเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ได้เปลี่ยนความคิดของรัฐบาลญี่ปุ่นให้หันมาเสริมสร้างความเข้มแข็งของกำลังรบมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น เคยกล่าวถึงการส่งเสริมขีดความสามารถทางทหาร “เพื่อการรักษาสมดุลของความขัดแย้ง” ซึ่งจะรวมถึงการขยายขอบเขตการใช้อำนาจทางทหาร เพื่อรับมือสถานการณ์เฉพาะที่เชื่อมโยงกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจเพิ่มความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามที่ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปถึงความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะพิพาท ในทะเลจีนตะวันออก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็น 2 เท่า หรือคิดเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ให้ได้ภายในปี 2027

ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นตกลงจัดหาขีปนาวุธแพทริออตให้แก่สหรัฐฯ หลังจากยุติการแบนส่งออกทางทหารที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ (Pacifist Constitution) ของประเทศ มาตั้งแต่ปี 1947 ความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยเกื้อหนุนคลังแสงของวอชิงตันที่ร่อยหรอลงไปอย่างมาก จากความขัดแย้งลากยาวระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

การขายอาวุธแก่สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยืนยันในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นส่งออกอาวุธร้ายแรง ในขณะที่บริษัทมิตซูบิชิ อินดัสตรีส์ คือผู้ผลิตขีปนาวุธแพทริออต ภายใต้ใบอนุญาตจากล็อคฮีด มาร์ติน และ RTX สองบริษัทคู่สัญญาด้านการป้องกันประเทศสัญชาติสหรัฐฯ

แม้ขีปนาวุธสกัดกั้นที่ผลิตโดยญี่ปุ่นจะไม่ได้ป้อนสู่เคียฟโดยตรง แต่ขีปนาวุธเหล่นี้อาจเปิดทางให้วอชิงตัน ส่งขีปนาวุธแพทริออตที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ให้แก่เคียฟเพิ่มเติม

"ในการดำเนินการครั้งนี้ เราหวังว่าจะช่วยส่งเสริมการปกป้องกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้างบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ และเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ บอกกับพวกผู้สื่อข่าว หลังจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเห็นชอบยกเลิกมาตรการแบนส่งออก

ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุว่าข้อตกลงขีปนาวุธครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

แม้ คูชิดะ ยืนยันว่า "ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในหลักการของเราในฐานะประเทศสันติ" แต่ทาง ราห์ม เอ์มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ยอมรับว่าการปฏิรูปด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น อยู่ในขนาด ขอบเขตและอัตราความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมบอกว่าโตเกียวกำลังปรับปรุงด้านกลาโหมให้ทันสมัยครั้งใหญ่ที่สุดหนหนึ่งในช่วงอายุคน

การตัดสินใจเห็นชอบการส่งออกครั้งนี้ มีขึ้นในวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเห็นชอบเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายด้านกลาโหมอีก 16% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเวลานี้งบประมาณด้านการทหารประจำปีงบประมาณ 2024 มูลค่า 7.95 ล้านล้านเยน (ราว 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหลือแค่รอความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ คูชิดะ เคยแถลงจะยกระดับด้านการทหารในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติผู้ใช้จ่ายด้านกลาโหมรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจีน

ตัวเลขงบประมาณดังกล่าวครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ไม่อาจคิดได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยสหรัฐฯ ของญี่ปุ่น โดยในรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพนั้น โตเกียวไม่ใช่แค่เพียงยอมสละสิทธิในการทำสงคราม แต่ยังยอมสละการครอบครองอาวุธที่เกินกว่าความจำเป็นสำหรับการป้องกันตนเองในขั้นต่ำสุดอีกด้วย