นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2567 ว่า กทม.กําหนดเป้าหมายหรือแผนงานดําเนินการจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอย โดยได้สํารวจจุดทําการค้าที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน การจราจร หรือในจุดที่มีผู้ค้าน้อยราย เพื่อดําเนินการยุบ/เลิก มีจำนวน 110 จุด ผู้ค้ารวม 1,351 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 37 จุด ผู้ค้า 626 ราย  กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 9 จุด ผู้ค้า 157 ราย  กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 20 จุด ผู้ค้า 166 ราย  กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 14 จุด ผู้ค้า 123 ราย  กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 16 จุด ผู้ค้า 150 ราย และ กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 14 จุด ผู้ค้า 129 ราย

พร้อมทั้ง พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์การจัดระเบียบหาบเร่ – แผงลอยให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองกรุงเทพฯ ด้านกายภาพ พิจารณาจุดทําการค้าในถนนสายรอง แต่ต้องไม่กีดขวางการสัญจรของประชาชน รวมถึงคุณสมบัติผู้ค้าต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและต้องเป็นผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย  นอกจากนี้ ยกระดับผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยโดยประสานสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นทุนประกอบอาชีพ , ฝึกอบรมเพิ่มทักษะการค้าขายออนไลน์ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการด้วย

ที่ผ่านมาได้เร่งรัดดําเนินการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่–แผงลอยริมทางเท้าสาธารณะให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยทุกจุด โดยกําหนดมาตรการ คือ ไม่เพิ่มจุดและจํานวนผู้ค้าที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว กรณีจุดทําการค้าใดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจํานวนมาก เช่น ถนนสีลม อังรีดูนังถ์ เพลินจิต สุขุมวิท พหลโยธิน ลาดพร้าว รามคําแหง ทองหล่อ ได้ขอความร่วมมือให้เคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในที่เอกชน หรือราชการ รัฐวิสาหกิจ โดย กทม.เป็นผู้จัดหาที่รองรับให้พร้อมเจรจาต่อรองราคาค่าเช่าแผงค้าที่เป็นธรรม ส่วนจุดที่มีผู้ค้าน้อยรายให้ไปรวมกับจุดใกล้เคียง เพื่อลดจํานวนแผงค้ามิให้ตั้งวางกระจัดกระจาย กีดขวางทางสัญจรของผู้ใช้ทางเท้ามากเกินไป ในส่วนจุดอื่นที่ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้ ก็ได้ เร่งรัดจัดระเบียบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่น ปรับเปลี่ยนแผงค้า ร่มบังแดด ผ้าบังแดด จัดทําแผงกั้น ด้านหน้าและหลังแผงค้า ลดขนาดแผงค้าให้ได้เท่าที่เกณฑ์กําหนด รวมทั้งขีดสี ตีเส้น กําหนดขอบเขต การตั้งวางแผงค้าให้ชัดเจน มิให้รุกล้ำกีดขวางช่องทางสําหรับผู้ใช้ทางเท้า เช่น จุดทําการค้าพาหุรัด เขตพระนคร , ซอยรางน้ำ และเชิงสะพานหัวช้าง เขตราชเทวี , หน้าอาคารโรเล็กซ์ เขตปทุมวัน , หน้าบิ๊กซีบางนา เขตบางนา , หน้าห้าง Union Mall เขตจตุจักร , หน้าตลาดบัว เขตลาดพร้าว , ถนนพระราม 3 หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา เขตยานนาวา ซึ่งการดําเนินการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่–แผงลอย ระดับเขตและระดับกรุงเทพมหานคร

“เรื่องจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย คำว่าจัดระเบียบ หมายความว่า กทม.ไม่ได้ห้ามขาย แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งหมด ที่ผ่านมาจะเข้มงวดกับจุดที่มีทางเท้าแคบจริงๆ หากปล่อยให้มีหาบเร่แผงลอยเข้าไปขาย ก็ยิ่งทำให้ทางเดินแคบลงมาก ส่งผลกระทบต่อคนเดิน จึงต้องจัดระเบียบหรือยกเลิกในบางจุด โดยยึดผลประโยชน์ของคนเดินเท้าเป็นหลัก เพราะทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะ หากพื้นที่ใดคนเดินได้สะดวกปลอดภัยก็สามารถค้าขายได้  “ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวและว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดระเบียบจุดผ่อนผัน 95 จุด ผู้ค้า 5,233 ราย  ส่วนนอกจุดผ่อนผัน 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย ได้ยุบ/เลิก 105 จุด , ควบรวม 50 จุด และ ย้ายเข้าที่เอกชน 36 จุด โดยทำภายใต้หลักการเน้นสร้างความเข้าใจ

ในส่วนของการจัดทำ Hawker Center ตามนโยบาย ผู้ว่าฯกทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ได้กําหนดรูปแบบดําเนินการ Hawker Center หลายรูปแบบ วัตถุประสงค์ก็เพื่อจัดหาสถานที่รองรับการทําการค้าหาบเร่- แผงลอย ที่ทําการค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ  ในปี 2565 - 2566 ได้ให้เขตพื้นที่สํารวจพื้นที่ว่างของเอกชน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ วัด ที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ เพื่อจัดทําเป็นศูนย์อาหาร หรือศูนย์จําหน่าย สินค้า หรือ Hawker Center ได้จํานวน 125 จุด แต่เมื่อลงไปตรวจสอบเพื่อจะดําเนินการพบว่า มีสถานที่ที่สามารถดําเนินการได้จริง จํานวน 39 จุด ใน 29 เขต รองรับผู้ค้าได้รวม 2,842 ราย ส่วนใหญ่เป็นที่เอกชน มีค่าใช้จ่ายในการเข้าทําการค้า บางจุดยังอยู่ระหว่างการเจรจา บางที่พร้อมให้ผู้ค้าเข้าไปทําการค้าแล้ว

รูปแบบหนึ่ง คือ การพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเพื่อให้เป็น Hawker Center ในบริเวณด้านข้างศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ติดคลองหลอดวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นที่ของ กทม.ปัจจุบันมีผู้ค้าเข้ามาค้าขายอยู่แล้วแต่ไม่เป็นระเบียบ กทม.จึงจะจัดทําโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็น เช่น สร้างหลังคา รูปแบบแผงค้า สาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า การรักษาความสะอาด ถังบําบัดน้ำเสีย บ่อดักไขมัน โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 893 ตร.ม. และมีพื้นที่ปกคลมุ 660 ตร.ม. วางแผงค้าได้ 60 แผง คาดว่าจะเปิดให้ผู้ค้าเข้าไปทําการค้าเต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายน 2567 โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือผู้ค้าที่ขายอยู่แล้ว หากมีพื้นที่เหลือก็จะเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ โดยให้เขตย้ายผู้ค้าบริเวณถนนดินสอเข้ามารวมกับผู้ค้าใน Hawker Center

“การทำ Hawker Center ของ กทม. มีการดำเนินการหลายรูปแบบ มีทั้งประสานหาที่ว่างของหน่วยงานอื่น หรือที่เอกชน การพัฒนาที่ของ กทม.เอง และ การพัฒนาทางเท้าโดยการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานการรักษาความสะอาด ระบบสาธารณูปโภค มีสถานที่ล้างรวม ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อบำบัดไขมัน ที่ทิ้งขยะรวม ปี 66 สำรวจได้ที่แล้ว 39 จุด ใน 29 เขต  แผนในปีงบประมาณ 2567 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะดําเนินการจัดหาสถานที่จัดทําเป็น Hawker Center เพิ่มให้ได้จํานวนรวม 50 จุด ซึ่งหมายถึงจะต้องได้อีก 11 จุด แต่จากการที่ได้ให้สํานักงานเขตไปสํารวจพื้นที่จะสามารถดําเนินการได้มี 28 จุด ใน 26 เขต” รองผู้ว่าฯ จักกพันธ์ุกล่าว