Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ จับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามที่เราได้ประเมินไว้ ว่าโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทจะเริ่มชะลอลง และมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ (แกว่งตัวในช่วง 34.12-34.35 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.00% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับสถานะถือครองก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ก็มีส่วนยิ่งกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Apple -3.6% ที่ปรับตัวลงแรงจากการปรับลดความน่าลงทุนโดยนักวิเคราะห์ในตลาด นอกจากนี้ การทยอยรีบาวด์ขึ้น ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.63% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.57%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.11% กดดันโดยแรงขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -2.6% หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวทยอยปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Dior -3.0% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.95% โดยส่วนหนึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับสถานะถือครองบอนด์บ้าง ก่อนที่จะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต้องทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองเดิมของเราว่า ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว แต่ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 102.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.6-102.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทยอยปรับตัวลดลง ใกล้โซนแนวรับ 2,060-2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดย ISM (Manufacturing PMI) เดือนธันวาคม รวมถึง รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) นอกจากนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ราว 2.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ตลาดจะจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการพิจารณาแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังเงินดอลลาร์เริ่มกลับทิศทางทยอยแข็งค่าขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลงเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่จะชี้ชะตาว่า เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ อาจขึ้นกับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยหากดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต หรือ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งหนุนการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็กลับมาในจังหวะที่ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นมากขึ้น เช่นเดียวกันกับในฝั่งบอนด์ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามได้ และสร้างแรงกดดันต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์ไทย
ทั้งนี้ เราคงประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากจากโซนแนวต้านสำคัญ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอจังหวะเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ รวมถึงรอเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีนี้) ส่วนโซนแนวรับเงินบาท เรามองว่า โซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นโซนแนวรับที่เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าผ่านไปได้ง่ายนัก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนที่ชัดเจน
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.40 บาท/ดอลลาร์
#ค่าเงินบาท #กรุงไทย #ดอกเบี้ย #เฟด