เรื่อง : ชนิดา สระแก้ว 

ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์

หมายเหตุ: "คำนูณ สิทธิสมาน" สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐรายวัน” ถึงบทบาทของสว.ปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในเดือน พ.ค.2567 พร้อมกันนี้ยังได้เตือนสติรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และ “ทักษิณ ชินวัตร”  อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งสติ นำบทเรียนที่ผ่านมา 20 ปี ในอดีตมาเตือนใจ คลื่นใต้น้ำที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตซ้ำได้  

 

 -บทบาทของ สว. 250 คนในสถานการณ์การเมือง จากยุคคสช.มาถึงช่วงที่ใกล้หมดวาระ เป็นอย่างไรบ้าง           

ก็ต้องยอมรับว่าสว.250 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ถือว่าเป็นสว.ชุดประวัติศาสตร์ไม่เคยมีมาก่อนและอนาคตข้างหน้าก็คงจะไม่มีแบบนี้ได้ง่าย ที่เป็นไฮไลท์คือให้มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯด้วย ซึ่งเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการสว. ต้องการรักษาความสงบของบ้านเมือง ช่วงรอยต่อระหว่างการยึดอำนาจก่อนไปสู่การเลือกตั้งให้เรียบร้อย

ซึ่งสว.ชุดนี้ก็จะหมดลงในเดือนพ.ค. แต่สว.ชุดใหม่ 200 คนก็จะมีอำนาจหน้าที่ตามปกติ แต่ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าที่มาก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นการที่จะไปปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ต้องพิจารณาในด้านนี้ด้วย 

-ต้องถือว่าเป็น "สว." ชุดที่รับมือกับแรงกดดันทางการเมือง มากที่สุดเมื่อเทียบในอดีตที่ผ่านมา                 

เราไม่อาจเลือกที่มาของเราได้ เราก็ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสว.ชุดใหม่เขาก็เลือกไม่ได้ เพราะที่มากำหนดให้เลือกกันเอง 20 กลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่ม 2 ชั้น 3 ระดับ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนกันพอสมควร ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

แต่การทำงานของสว.เหมือนปิดทองหลังพระ คนไม่ค่อยเห็นมากนัก โดยเฉพาะเรื่องกลั่นกรองทำได้ดีจนสส.ก็ยอมรับ เช่นร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลอื่นสูญหาย หรือกฎหมายอุ้มหาย มาแก้ไขให้ดีขึ้นในชั้นของกรรมาธิการของสว. และมีกฎหมายอีกหลายๆฉบับที่สว.ได้ปรับปรุงแก้ไข เช่นกฎหมายประชามติ  

-สว.ที่จะมาใหม่ ต่อจากชุดนี้ มีอะไรที่อยากฝาก "การบ้าน" หรือไม่     

ไม่มี  เพราะแต่ละคนที่จะเข้ามาเป็นตัวของตัวเอง มีความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะใน 20 กลุ่มอาชีพ ผมเชื่อว่าสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะเป็นพี่เลี้ยงให้ข้อมูล รายละเอียดของกฎหมาย ให้แก่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ได้ เพราะเป็นสว.ชุดใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้ามาก็เจองานหนัก ทั้งพิจารณากฎหมายที่จะทยอยเข้าสู่สภา ฯและปลายเดือนก.ค.ก็จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568    

-ประเมินว่า สว.ชุดจากนี้ไป จะเจอกับ ปัจจัย ทางการเมือง เรื่องใดที่ต้องจับตา บ้าง อาทิการแก้รัฐธรรมนูญ การผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  

สำคัญทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จหรือไม่ แค่ถกประชามติก็ยังไม่ลงตัว ถ้ารัฐบาลเลือกใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256  สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของสว.ชุดใหม่คือเสียง 1 ใน 3 สนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องใช้เสียง 67 คน ไม่ถึง 84 คน เพราะสว.ชุดใหม่มี 200 คน ไม่ใช่ 250 คน ซี่งไม่ใช่บทเฉพาะกาล แต่เป็นบทถาวร 

-อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ "250สว." ชุดนี้ จะหมดวาระลงแล้ว ยังมี "งาน" อะไรที่ต้องเร่งดำเนินการ       

ทำทุกเรื่องให้ดีที่สุด และทำเต็มที่ในทุกด้าน กฎหมายประชามติจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร ร่างกฎหมายต่างๆก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายอะไรเข้าสภาฯ จะเข้ามาทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ นอกจากนั้นภาระหน้าที่ของสว.ก็เร่งทำอยู่ เช่นสว.พบประชาชนลงพื้นที่ทั่วประเทศก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง ภารกิจใดๆที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ท่านประธานวุฒิสภาก็ย้ำว่าวุฒิสภาทุกคนก็สามารถที่จะกระทำได้เพราะถือว่าเป็นช่วงโอกาสทองสุดท้ายของการเป็นสว.  

-ปม “ทักษิณ” จะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองซ้ำอีกได้หรือไม่   

ทุกคนพึงพอใจที่เห็นบ้านเมืองก้าวสู่ความปรองดองในระดับหนึ่ง สลายความขัดแย้งที่เคยมีมา ผมเชื่อว่าทางพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล มีบทเรียนจากอดีต 20 ปีมาแล้วว่าอะไรควรทำแค่ไหน อย่างไร ก็ต้องระมัดระวังสูงสุด รวมถึงตัวนายทักษิณเอง เมื่อได้กลับประเทศไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอภัยลดโทษ โดยวัยที่สูงขึ้นท่านก็น่าจะมีสติมากขึ้น จากบทเรียนที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมายาวนาน และได้กลับมา

ผมเรียกร้องทั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ต้องมีสติให้มั่น ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในกรอบของความพอดี เพราะขณะนี้ทุกอย่างเสมือนทะเลที่ราบเรียบ เงียบสงบ แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังมีอยู่

ความไม่พอใจ ไม่เข้าใจในสิ่งที่เห็น ที่เป็นอยู่ มีไหม ก็มี แต่โอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นวิกฤตหรือไม่ ขณะนี้เรายังมองไม่เห็น แต่ว่าต้องไม่ประมาท และหมิ่นน้ำใจมากเกินไป

ทำอะไรก็ให้อยู่ในกรอบที่สามารถอธิบายได้ น่าจะเป็นประโยชน์ และรัฐบาลบางเรื่องก็ไม่ควรอ้ำอึ้งสามารถที่จะอธิบายได้ก็อธิบาย การที่ไม่พูดไม่ตอบเลยวันนี้อาจจะไม่เกิดอะไร แต่เราก็ไม่อาจจะรับประกันได้ในอนาคต ผมคิดว่าบทเรียนที่เป็นมาก็จะทำให้ทุกฝ่ายมีสติในการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น  

-จะทำให้สถานการณ์การเมืองหลังปีใหม่ 2567 เลวร้ายลงหรือไม่   

สถานการณ์ขณะนี้ก้าวเข้าสู่ภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองใหม่ รัฐบาลน่าจะมีความเข็มแข็ง หากย้อนไปดูการจับมือตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย  212 เสียงเป็นแกนเบื้องต้น ถ้าภูมิไจไทยไม่ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยจะมีหนทางอื่นแปรผันไปได้ แต่เลือกเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทย ถ้าทั้งสองพรรคดำรงอยู่ต่อไปการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็อาจจะมีบ้างเป็นปกติ

ต่อให้เลือกตั้งใหม่ทั้ง 2 พรรคผลจะแปรเปลี่ยนไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมาเคยชินกับพรรคการเมือง 2 ขั้ว คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่พัฒนาการตั้งแต่ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ และการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ล่าสุด ถือว่าจบภารกิจความเป็นประชาธิปัตย์แบบดั้งเดิมไปแล้ว แต่ยังคงเหลือแค่ชื่อพรรคประชาธิปัตย์อยู่ ขณะที่พรรคที่ก้าวเข้ามาเป็นคู่ต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยแทนพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ลดบทบาทลงไป

ซึ่งก้าวไกลเป็นพรรคกึ่งอุดมการณ์ได้รับการเลือกตั้งมาจากกระแสความนิยมมากกว่าที่จะเป็นศูนย์รวมของบ้านใหญ่ และการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป ก้าวไกลก็จะรักษาเสียง 100-150 ต่อไปพอสมควร แต่ไม่ได้เสียงข้างมาก ส่วนเพื่อไทย และภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ 20-30 เสียงโอกาสที่จะไปจับมือกับก้าวไกลยาก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองในระบบรัฐสภาจะเป็นอย่างนี้ แต่ลักษณะ 2 ขั้วก็จะดำรงอยู่ต่อไป  

ยกเว้นจะมีเหตุการณ์ผมคิดว่าทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย และนายทักษิณ จะต้องมีสติทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรอบของความพอดี การที่ไม่มีคนค้านเลย หรือเสียงค้านดูเหมือนไม่มีพลัง แต่ไม่ใช่ว่าจะคงที่อย่างนี้ตลอดไป ควรใช้บทเรียนในอดีตมากำหนดตัวเราในปัจจุบัน การทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อคนส่วนใหญ่น่าจะเป็นชัยชนะที่ยั่งยืนกว่า

เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมาก มีความมั่นคงก็บริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผลงานจะเป็นตัวตัดสิน  แม้จะดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล แต่ยอมรับความเป็นจริงว่าประชาธิปัตย์ค่อยๆสูญเสียความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ต่อเนื่องมาหลายปี ประชาธิปัตย์เป็นแค่พรรคการเมืองหนึ่ง ดังนั้นการตัดสินใจประชาธิปัตย์ ต้องคิดแล้วว่าประชาชนตอบรับเรื่องนี้หรือไม่