อ่างทอง ตาย 3 บาดเจ็บ 10 ราย เน้นย้ำสวมหมวกนิรภัยและดื่มไม่ขับ ด่านชุมชนใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด

   วันนี้ (2 มกราคม 2567) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมโพธิ์ทอง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง มอบหมายให้ นายณัฏฐพงษ์ พัฒนรัฐ ปลัดจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567

โดยมีนายบรรจง โพธิวงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทอง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอ่างทอง ดำเนินการประชุมรายงานผลปฏิบัติการและรายงานสถิติอุบัติเหตุ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมรายงานผลการปฏิบัติงานของแต่ละภาคส่วน สำหรับสรุปรายงานการเกิดอุบัติเหตุประจำวันที่ 1 มกราคม 2567 (วันที่ 4 ของเทศกาล) เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 5 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 4 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เหตุเกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอ่างทอง (2 ราย) อำเภอวิเศษชัยชาญ (2 ราย) และอำเภอแสวงหา (1 ราย) สาเหตุเกิดจากดื่มแล้วขับ ทัศนวิสัยไม่ดี ขับรถเร็ว ทั้งนี้ สถิติรวม 4 วัน เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้นจำนวน 12 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 10 ราย เสียชีวิต 3 ราย เน้นย้ำคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยและดื่มไม่ขับ 

  ในการนี้ ปลัดจังหวัดอ่างทอง ได้สั่งการให้ทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์การสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อน เนื่องจากยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ เพื่อลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิต ในปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัย ตรวจสอบไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และติดตั้งป้ายเตือนตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ

โดยเฉพาะเส้นทางสายรอง นอกจากนี้ ให้ด่านชุมชนเพิ่มความเข้มข้น ดำเนินการเชิงรุกป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้ง ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฝ้าระวัง ตรวจตราในพื้นที่ที่ยังมีการจัดเลี้ยงสังสรรค์ในชุมชน สร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ดื่มไม่ขับ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทางตามภารกิจที่หน่วยงานรับผิดชอบไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด