“หอการค้าฯ”มองปี 67 ศก.ฟิ้นตัวช้า จี้รัฐอัดมาตรการกระตุ้น-แก้หนี้-ลดค่าไฟ

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีทิศทางการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า และอาจเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ โดย 9 เดือนแรกของปี GDP เติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการส่งออกที่ยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะจีน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวอย่างต่อเนื่อง และการชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังสูงสุดกลับมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคนจากเป้าหมาย 30 ล้านคน และเมื่อมาดูถึงตัวเลขรายได้จากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็พบว่ามีการใช้จ่ายที่ลดลงเหลือเพียง 4.3 หมื่นบาท/คน/ทริป จากที่เคยประมาณการ 4.55 หมื่นบาท/คน/ทริป

นอกจากนี้ส่วนหนึ่งที่ GDP ของไทยเติบโตไม่โดดเด่นมากเป็นผลมาจากความล่าช้าในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ที่ทำให้การใช้จ่ายเม็ดเงินภาครัฐไม่เป็นไปตามแผน สะท้อนจากตัวเลขของ GDP Q3/66 ที่เติบโตเพียง 1.5 ซึ่งการอุปโภคภาครัฐติดลบถึง 4.9% หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนในลักษณะนี้ประเมินว่าทั้งปีจะเติบโตได้เพียง 2.4% น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ 2.5-3% การส่งออกน่าจะติดลบในระดับ -2.0 ถึง -1.0% ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อขยับลงมาในกรอบที่ 1.3 ถึง 1.7%

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 หอการค้าฯประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น โดยมีปัจจัยบวกมาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนอีเวนท์โปรโมทเทศกาลสำคัญของประเทศ รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศที่เป็นเป้าหมายดึงดูดการท่องเที่ยวมากขึ้น ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจำนวน 33-35 ล้านคน ขณะที่นโยบายการคลังทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยนโยบายเติมเงินในดิจิทัลวอลเล็ต หากสามารถดำเนินการได้และเต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อย 1-1.5%

ส่วนมาตรการ e-Refund คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินใช้จ่ายประมาณ 7 หมื่นล้านบาท มีผลช่วยให้ GDP ปี 2567 ขยายตัวได้ 0.15-0.2% โดยภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทควบคู่ไปกับความชัดเจนของมาตรการแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบของรัฐบาลที่ถูกดันเป็นวาระแห่งชาติจะช่วยผ่อนคลายความกังวลของประชาชนและสร้างกำลังซื้อให้กับเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น หอการค้าฯ จึงประเมินว่า GDP ปี 2567 น่าจะเติบโตได้ราว 2.8 ถึง 3.3% ขณะที่ภาคการส่งออกน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกของรัฐบาลที่เน้น 10 ประเทศเป้าหมาย จะมีส่วนขยายการส่งออกได้ทั้งปีราว 2.0 ถึง 3.0% และภาพรวมเงินเฟ้อขยับขึ้นในระดับ 1.7 ถึง 2.2% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว ปัญหาสงครามรัสเซีย ยูเครน และอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจบลงอย่างไร จะยังคงเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจของโลก ส่วนปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ การเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของ ธปท. ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง สถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่อาจเกิดขึ้นเร็วและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยาวเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตเต็มศักยภาพได้อย่างเร็วที่สุด

ขณะที่ราคาค่าไฟถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต และอุตสาหกรรมต่างๆ ถ้าค่าไฟสูงขึ้นอาจมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและเป็นการผลักภาระให้กับภาคประชาชนในท้ายที่สุด ทั้งนี้ จากข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ให้มีการปรับขึ้นค่าไฟมาที่ 4.20 บาทก็ยังสูงขึ้นจากเดิม และเป็นการปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดี ซึ่งภาคเอกชน เห็นว่าค่าไฟที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วง 2.70-3.30 บาท/หน่วย ดังนั้นในระยะสั้นภาคเอกชนยังอยากให้รัฐบาลทบทวนและตรึงราคาค่าไฟฟ้าเดิมไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ และพิจารณาให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการหารือและร่วมกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าผ่านกลไก กรอ.พลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นและหนี้นอกระบบ การแก้หนี้ทำอย่างจริงจังเน้นความต่อเนื่อง แม้ต้องอาศัยหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมทั้งฝ่ายปกครอง สถาบันการเงิน และผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ แต่เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ เพราะท้ายที่สุดจะเป็นตัวฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยหอการค้าฯเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมควบคู่กับการแก้หนี้ให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้หอการค้าฯ มีข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับรัฐบาลเพื่อให้การแก้ไขหนี้สามารถเกิดผลเป็นรูปธรรมดังนี้ 1.นอกจากการแบ่งกลุ่มลูกหนี้ 4 ประเภทอย่างชัดเจนและมีแนวทางช่วยเหลือแล้ว อยากให้รัฐบาลมุ่งเน้นการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน และการออมเงินระยะยาว เพื่อไม่ก่อให้เกิดหนี้บริโภคหมุนเวียนซ้ำในลูกหนี้กลุ่มนี้

2.การนำเอาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลธรรมดา ธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงตามความจำเป็น โดยสามารถออกแบบสินเชื่อให้เหมาะสมตรงกับลักษณะและความจำเป็นของแต่ละคนได้

3.สำหรับผู้ประกอบการ ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่การทำธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือได้เงินมาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยในส่วนนี้สามารถมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้หรือไม่

4.สำหรับหนี้นอกระบบซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อในภาคส่วนต่างๆ เพราะไม่มีใครอยากจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ หากสามารถเลือกจัดการบางส่วนก่อนได้ เช่น เอาหนี้นอกระบบทางการค้า ให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง เป็นต้น

ทั้งนี้ หอการค้าไทย เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งในส่วนของหอการค้าไทย และเครือข่ายพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาล และจะนำประเด็นดังกล่าว ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้มีศักยภาพในการชำระหนี้ และมีเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ขณะเดียวกันจากการนำคณะนักธุรกิจไทยกว่า 34 คนจากสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง อาหาร อสังหาริมทรัพย์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลังงาน การเงิน โรงแรมและบริการ โรงพยาบาลและการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา เป็นต้น เยือนกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 9-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจไทย เพื่อรุดหน้าสร้างโอกาสบุกตลาดศักยภาพสูงอย่างซาอุฯ โดยการนำคณะมาครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำการสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการนำคณะภาคธุรกิจไทยเข้าพบหารือกับหอการค้าซาอุดีอาระเบีย (Federation of Saudi Chambers) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของภาคธุรกิจซาอุฯ และได้ร่วมการประชุมหารือ Thai-Saudi Joint Business Council ซึ่งถือเป็นการหารือกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอีกด้วย

โดยจากการประชุมดังกล่าว ภาคเอกชนสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือผลักดันการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง และภาคเอกชนสองประเทศเห็นพ้องที่จะกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับ Saudi Vision 2030 และจะมีการติดตามผลความคืบหน้าของแต่ละด้านเป็นรายปี โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.ด้านการส่งเสริมการค้าได้กำหนด 10 สาขาธุรกิจเป้าหมายที่มีศักยภาพร่วมกันเพื่อพุ่งเป้าการขับเคลื่อนให้ชัดเจน ได้แก่ วัสดุก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง อาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยวและบริการ พลังงาน เพาะปลูกต้นไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องครัวและอุปกรณ์ ปุ๋ย ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเอกชนสองประเทศตั้งเป้าหมายขยายมูลค่าการค้าจากในปี 2566 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการค้ารวม 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ให้เพิ่มขึ้นไป ถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2567 (เติบโตขึ้น 20%)

2.ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เอกชนไทยและซาอุฯ ตั้งเป้าหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งกันและกันให้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน สถิตินักท่องเที่ยวซาอุฯ เยือนไทยระหว่าง มกราคม-พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ราว 1.6 แสนคน และคาดไว้ว่าตลอดทั้งปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ ประมาณ 1.8 แสนคน และตั้งเป้าให้เพิ่มเป็น 4 แสนคน ภายในปี 2567 ทั้งนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับไทยจำนวนมาก ดังนั้นควรส่งเสริมเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบีย มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและศาสนาจัดกิจกรรมและส่งเสริมการตลาดในซาอุดีอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคเอกชนซาอุฯยังได้ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวซาอุฯให้เพิ่มเป็น 1.5 แสนคนภายในปี 2567 โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและการแสวงบุญ ซึ่งจากการที่ทางการซาอุดีอาระเบียได้มีการใช้อีวีซ่ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เดินทางจากไทยมายังซาอุดีอาระเบีย ทำให้การเดินทางสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

3.เอกชนไทย-ซาอุฯ เห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างกันปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นกลไกในการร่วมกันติดตามเป้าหมายด้านการค้าและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ภาคเอกชนซาอุฯ ตอบรับเข้าร่วมการประชุม ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปี 67 และจะได้เข้าร่วมงาน Thaiflex Anuga Asia 2024 ที่หอการค้าไทยจัดขึ้นต่อเนื่อง และถือเป็นงานแสดงสินค้าด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Thai Saudi business forum ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโอกาสการค้าและการลงทุน และกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจกับนักธุรกิจซาอุฯ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดธุรกิจระหว่างกัน โดยมี Dr.Sami Al Abedi, Chairman of Saudi Thai Business Council และนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมกว่า 40 ราย กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ และนายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญของไทยในซาอุดีอาระเบีย ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับซาอุฯ ในด้านต่างๆ

ขณะเดียวกันจากการร่วมประชุมรับฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จากเหตุการณ์ความไม่สงบและจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่องที่มีวัตถุประสงค์เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ในรูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนโดยให้ดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 1.5 ต่อปีและรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในวงเงินกู้ทั้งหมด 25,000 ล้านบาทให้สถาบันการเงินร้อยละ 2 ต่อปี ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตามมติ ครม.และต้องชำระเงินกู้มทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.68(แตกต่างกันตามวงเงินที่ได้รับ) ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหามายังหอการค้าไทยว่าผู้ประกอบการที่ได้รับวงเงินสินเชื่ออยู่ในปัจจุบันจำนวนมาก อาจไม่สามารถเตรียมพร้อมในการชำระเงินคืนได้ทัน ส่งผลให้มีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 2-3 เท่าทันที

โดยจากการประเมินพบว่ามีผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว (ณ วันที่ 31 ธ.ค.65) ประมาณ 4,890 ราย รวมวงเงิน 20,872 ล้านบาท จากวงเงินโครงการทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินในวงเงินที่ไม่มากและอยู่ภายใต้กรอบเดิมที่ตั้งไว้ หากเทียบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดนี้ได้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานการณ์หนี้เสีย (NPL) และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในพื้นที่

ทั้งนี้จากการหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับหอการค้าไทยได้มีการส่งข้อเสนอเปิดผนึกไปถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 เพื่อพิจารณาทบทวนแนวทางการช่วยเหลือดังนี้ 1.ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ขอให้ ครม.มีมติพิจารณาชะลอนโยบายการชำระสินเชื่อเพื่อลดวงเงินกู้ยืมทั้งในส่วนของวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 และวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.67 ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ประกอบการ ผ่านคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนใต้(สินเชื่อ Soft Loan) ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสถาบันการเงิน และภาคเอกชนในพื้นที่ 2.ขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนขยายระยะเวลาชำระหนี้ทั้งหมดจากภายในปี 68 เป็น ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2570 โดยระหว่างนี้ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการร่วมกันหารือ เพื่อวางแผนการชำระหนี้ และเจรจาปรับอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงที่เห็นพ้องกันทั้งสองฝ่าย ต่อไป

สำหรับหอการค้าไทยเชื่อว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยเติมทุนและขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและสถาบันการเงินในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าธุรกิจ และสร้างการจ้างงานในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้นด้วยด้วย

สำหรับผลงานรัฐบาลเศรษฐา หากมองนโยบายเร่งด่วน 5 ด้านที่ตั้งเป้าหมายไว้ วันนี้หลายเรื่องถือว่าเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมจากการทำงานในเชิงรุก และความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรีที่สะท้อนจากการทำงานและเดินหน้าลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้ต้องขอชื่นชมรัฐบาลที่เดินหน้าแผนงานเร่งด่วนอย่างรวดเร็ว ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรที่ได้มีมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้ว การลดใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการผ่านนโยบาลลดค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ถือเป็นนโยบายที่ตรงใจและสอดคล้องกับข้อเสนอเร่งด่วนที่ภาคเอกชนเคยเสนอไว้

ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างชาติถือเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอของภาคเอกชนที่รัฐบาลขานรับอย่างทันที ขณะที่การดึงดูดการลงทุนใหม่ๆในธุรกิจใหม่ๆในประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็นมากและเห็นว่า รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้การวางโครงสร้างพื้นฐานและการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนคืออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ Ease of Doing Business และ Ease of Investment ที่จะต้องทำให้เห็นผล ปลดล็อคประเด็นข้อกังวลที่ทำให้การลงทุนติดขัด ซึ่งส่วนนี้จะช่วยเสริมความน่าสนใจให้กับประเทศไทยในอนาคตได้เป็นอย่างมาก

 

 

#หอการค้าไทย #สนั่นอังอุบลกุล #ค่าไฟ #เศรษฐา #ท่องเที่ยว