เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งเชื่อว่าหลายคนคงคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งยุคแรก จนกระทั้ง มีการวิวัฒนาการ มาสู่ เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน เรียกว่า เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง
วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่ พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ตอนที่ 8 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้
เพลงลูกทุ่ง (8)
การเสียชีวิต สุรพล สมบัติเจริญ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก ได้มีนักร้อง และวงดนตรีใหม่ๆ จึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของผู้ฟัง เกิดขึ้นอย่างมากมาย และมีโอกาสเสนอผลงานของตนสู่สาธารณชน
ขณะเดียวกันในสถบันการศึกษา ได้มีการจัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่ง ของมหาวิทยาลัย ซึ่งโด่งดังในช่วงประมาณเริ่มแรก คือ นิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีวงโฟล์กซอง ที่ใช้กีตาร์โปร่งอยู่ก่อนแล้ว เปลี่ยนมาใช้กีตาร์ไฟฟ้าแบบวงสตริง ได้นำเพลงลูกทุ่งมาร้อง เรียกว่า "วงลูกทุ่งถาปัด" รับแสดงงานการกุศลทางสถานีโทรทัศน์และตามโรงเรียน ต่อมาไม่นานก็มี "วงลูกทุ่งดาวกระจุย" ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งชื่อเลียนแบบวงรวมดาวกระจาย วงดนตรีลูกทุ่งสัจจะธรรม ของ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและวงลูกทุ่ง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาต่อมา วงลูกทุ่งของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ทำให้กลุ่มคนในเมือง ที่ฟังแต่เพลงลูกกรุง หันมาสนใจฟังเพลงลูกทุ่ง และวงลูกทุ่ง ก็เพิ่มกีตาร์ไฟฟ้าเข้าไปด้วย
เพลงลูกทุ่งเริ่มมีความพันทางมากขึ้นจากฝีมือนักแต่งเพลงในยุคนั้นที่นำเอาทำนองเพลงนานาชาติมาใส่เนื้อร้องเป็นภาษาไทยได้อย่างกลมกลืนและบทเพลงลูกทุ่งเริ่มเข้าไปมีบทบาทในเพลงประกอบภาพยนตร์เพลง เช่น เรื่อง ชาติลำชี ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ และประสบความสำเร็จอย่างมากจนเป็นตำนานมาถึงปัจจุบันคือ มนต์รักลูกทุ่ง ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาในยุคนี้ เปลี่ยนแนวมาเป็นภาพยนตร์เพลงส่วนใหญ่ เช่น เรื่อง เทพบุตรสิบสองคม ,แค้นไอ้เพลิน ,ฝนใต้ ,ฝนเหนือ ,เจ้าลอย,ไอ้ทุย,โทน และเรื่องอื่น โดยมีนักร้องลูกทุ่งเข้าร่วมแสดง เช่น ชานย เมืองสิงห์, เพลิน พรหมแดน ,ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สังข์ทอง สีใส, พนม นพพร ,ชินกร ไกรลาศ,บุปผา สายชล, ศรีไพร ใจพระ, กิ่งดาว จันทร์สวัสดิ์ เป็นต้น รวมทั้งดารานักแสดงหลายคนก็หันมาตั้งวงดนตรี เช่น สายัณห์ จันทรวิบูลย์ ครรชิต ขวัญประชา กรุง ศรีวิไล
ขณะที่ เบญจมินทร์ ราชาเพลงรำวง ก็จะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่ ด้วยการเขียนบทภาพยนตร์ แต่งเพลงบรรจุเข้าในภาพพยนตร์ที่สร้างภาพยนตร์เช่น เรื่อง เสือเฒ่า,ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ และ แสนงอน เคยเป็นพระเอกใน เพื่อนตายและพระรองใน สุภาพบุรุษเสือไทย ตลอดจนเป็นตัวประกอบใน ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุค นำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์
เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ไอ้โต้ง, แผลหัวใจ เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง ขุนแผนผจญภัย ซึ่งเพลงประกอบละครเรื่องนี้แต่งโดย ครูมนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติ ขับร้องโดย โกมินทร์ นิลวงศ์ นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง
ทั้งนี้ ต้องกล่าวถึง ภาพยนตร์เรื่อง “บัวลำภู” เนื้อเรื่องเป็นการปฏิบัติการจิตวิทยาในยุคที่มีคอมมิวนิสต์ มีเพลงประกอบแค่ 2 เพลง คือเพลง “หมอลำสาว” ขับร้องโดย “สไบแพร บัวสด” และเพลง “อีสานลำเพลิน” ขับร้องโดย “อังคนางค์ คุณไชย” ภาพยนตร์ทำเงินได้แต่ไม่ดัง แต่เพลงประกอบกลับดังคือเพลง “อีสานลำเพลิน” ดังจากภาคอีสานกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
กระแสความดังของเพลง อีสานลำเพลินนี้เอง ทำให้เกิด “ลูกทุ่งอีสาน” เป็นคำบัญญัติใหม่ เพื่อใช้เป็นชื่อเรียกให้กับนักร้องลูกทุ่งจากดินแดนที่ราบสูงที่ผสมผสานความเป็นดนตรีสากลแบบลูกทุ่งภาคกลางกับแขนงดนตรีหมอลำสำเนียงเสียงเพลงภาษาอีสานโดย ผู้คิดนี้คือ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ