จนท.คุมตัวเด็กวัย 14 ก่อเหตุกราดยิงที่ห้างพารากอน ไปรักษาต่อสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนกว่าจะหายป่วยจิต แต่ไม่ทราบว่าอาการจะดีขึ้นเร็วหรือช้า  โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการก่อนสรุปส่งพนักงานสอบสวน  

    
 เมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปล่อยตัวเด็กชายวัย 14 ปี มือปืนกราดยิงภายในห้างสยามพารากอน จนมีผู้เสียชีวิต หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการไม่ทันตามกำหนด เป็นเหตุให้หมดอำนาจควบคุมตัวเพื่อรับการรักษา และสอบปากคำที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตั้งแต่เมื่อเที่ยงคืนที่ผ่านมา ว่า กระบวนการของอัยการได้หมดหน้าที่นับตั้งแต่คืนสำนวนคดีให้ตำรวจแล้ว ส่วนเรื่องการรักษาตัวเด็กชายผู้ก่อเหตุที่สถานพยาบาลแห่งนี้ต่อไปนั้น ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะสหวิชาชีพผู้ร่วมรักษาเด็ก โดยแพทย์ได้ลงความเห็นว่าเด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม 
    
 นอกจากนี้ต้องหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช แพทย์จึงยืนยันว่าจะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย เนื่องจากการรับการรักษาต่อนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครอง ซึ่งในวันนี้มีการประชุมหารือระหว่างผู้ปกครองเด็ก เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ แพทย์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทราบผลสรุปภายในวันนี้ หากเด็กไม่เจ็บป่วยก็ต้องปล่อยตัวไป แต่เมื่อชัดเจนว่าป่วยก็ต้องรักษาตัวต่อ
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ยังไม่พบมีการเคลื่อนไหวใดๆ  นอกจากสื่อมวลชนที่มาเฝ้าทำข่าว โดยพบว่ามีรถตู้คันหนึ่งเข้าไปในพื้นที่ที่พักรักษาผู้ป่วย จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ในละแวกนั้นระบุว่าวันนี้มีการประชุมเกี่ยวข้องกับเยาวชนผู้ก่อเหตุยิงที่สยามพารากอน ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ภายในพื้นที่หวงห้าม แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ได้มาก
     
ต่อมา เวลาประมาณ 11.00 น. มีรถยนต์ที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับครอบครัวเยาวชนผู้ก่อเหตุ เดินทางออกมาจากส่วนพักรักษาตัวของสถาบันฯ โดยไม่มีการลงมาให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
    
 ขณะที่ น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนกรมพินิจฯ ครอบครัวเยาวชน ประกอบด้วย พ่อแม่ของเด็ก และแพทย์ของสถาบันฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางครอบครัวยินยอมให้เยาวชนผู้ก่อเหตุอยู่ภายใต้การรักษาตัวของสถาบันต่อไป คาดว่าทางครอบครัวจะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ส่วนจะรักษาตัวนานเท่าใดและมีแผนการรักษาอย่างไร ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเป็นดุลพินิจของแพทย์ แต่ตอนนี้กรมพินิจฯ หมดอำนาจการควบคุมตัวแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของทางแพทย์กับครอบครัว สำหรับเรื่องคดี แพทย์จะเป็นผู้ทำรายงานวินิจฉัยการประเมินสุขภาพต่างๆ และนำส่งให้กับทางพนักงานสอบสวนต่อไป