ปลัดมหาดไทย เผยผลการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ วันแรกของปี 2567 ลงทะเบียนแล้ว 114,653 ราย มูลหนี้ 7,400 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 937 ราย เผยแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในมิติยาไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตของประชาชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันที่ 1 ม.ค.67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันแรกของปี พุทธศักราช 2567 เป็นวันที่ 32 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 7,400.039 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 114,653 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 99,380 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 15,273 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 84,834 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 7,162 ราย เจ้าหนี้ 6,252 ราย มูลหนี้ 624.107 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,873 ราย เจ้าหนี้ 4,199 ราย มูลหนี้ 314.288 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,507 ราย เจ้าหนี้ 3,320 ราย มูลหนี้ 290.784 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,381 ราย เจ้าหนี้ 2,868 ราย มูลหนี้ 337.452 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,046 ราย เจ้าหนี้ 2,525 ราย มูลหนี้ 232.679 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 169 ราย เจ้าหนี้ 138 ราย มูลหนี้ 8.830 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 236 ราย เจ้าหนี้ 161 ราย มูลหนี้ 17.594 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 306 ราย เจ้าหนี้ 220 ราย มูลหนี้ 9.886 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 379 ราย เจ้าหนี้ 261 ราย มูลหนี้ 15.068 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 410 ราย เจ้าหนี้ 274 ราย มูลหนี้ 19.645 ล้านบาท

"สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 4,361 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 937 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 260.549 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 127.571 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 132.977 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 1,136 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 23 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 89.457 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1.827 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด ลดลงมากถึง 87.630 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 25 รายทั้งประเทศ ซึ่งจังหวัดที่มีการดำเนินคดีมากที่สุด คือ จังหวัดระนอง ดำเนินคดีแล้ว 6 คดี"

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการระดมสรรพกำลัง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการหลอมรวมพลังความร่วมมือแก้ไขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกกลไกของกระทรวงมหาดไทยที่มีในระดับพื้นที่ลงพื้นที่แก้ไขอย่างจริงจัง แบบ Case by Case โดยมีผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น คือ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มี "นายอำเภอ" เป็นผู้นำการบูรณาการในระดับอำเภอ รวมไปถึง "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เป็นผู้นำการบูรณาการในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าไปใช้หนี้ให้ แต่จะเป็นตัวกลางให้ลูกหนี้กับเจ้าหนี้มาพูดคุยเจรจาไกล่เกลี่ยกันว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาลูกหนี้ได้จ่ายดอกไปเกินจำนวนเงินต้นแล้วหรือไม่ ถ้าลูกนี้ได้จ่ายเกินดอกเบี้ยเกินจำนวนเงินต้นไปแล้วจะยุติหนี้กันไปได้หรือไม่ หรือว่าหากยังไม่ครบ ทางรัฐบาลก็จะมีธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน หรือแม้แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้ลูกหนี้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นลูกหนี้นอกระบบเป็นลูกหนี้ในระบบตามกฎหมาย จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษอีกประการหนึ่ง คือต้องดูแลความปลอดภัยให้กับลูกหนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องด้วย “ทีมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่นำโดยฝ่ายปกครองได้มีการประสานบูรณาการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล หาข่าว ติดตาม และให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ลูกหนี้ พร้อมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ลูกหนี้ ทั้งการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ และการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยมิได้มองแค่ในส่วนของการแก้ไขหนี้เพียงอย่างเดียว เพราะมันเป็นเสมือนยาฝรั่ง ที่แก้ไขเพียงเฉพาะหน้า และมีโอกาสกลับไปกู้ยืมเงินอีก แต่เรายังมองถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว คือ มิติยาไทย โดยการทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ส่งเสริมความเข้มแข็งในการดำรงชีพ การหารายได้ ลดรายจ่าย สร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และการน้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไว้บริเวณรอบบ้าน เพื่อเป็นอาหารประจำครัวเรือน และรวมกลุ่มในการที่จะแปรรูปผลผลิต ทำการตลาดต่อยอด สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำคู่ขนานไป โดยมีกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปช่วยยกระดับ ทักษะอาชีพ ทักษะฝีมือ เพื่อที่จะมีรายได้จากหลายทางมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนที่เคยเป็นหนี้สินนอกระบบกลับมาสู่วงจรแห่งความทุกข์ยากนี้อีกตลอดไปอย่างยั่งยืน

"กระทรวงมหาดไทย ยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอร์คอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

#หนี้นอกระบบ #แก้หนี้