สทนช. ระดมความคิดเห็น เดินเครื่องโครงการประเมินผลและจัดทำรายงานตามตัวชี้วัด SDG6.4 ประสิทธิภาพการใช้น้ำและความขาดแคลนน้ำ มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านน้ำให้มีความยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น พร้อมเตรียมรายงานผลต่อ FAO ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
วันที่ 1 ม.ค.67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการประเมินผลและจัดทำรายงานตามตัวชี้วัด SDG 6.4 ประสิทธิภาพการใช้น้ำและการขาดแคลนน้ำ ว่า คณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 6 (SDG6) “สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (Ensure availability and sustainable management of water and sanitation for all)” และเป็นเจ้าภาพหลักในเป้าหมายย่อยที่ 6.4 (SDG 6.4) “เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ” โดย สทนช. มีการประสานบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายที่รับผิดชอบโดยต้องรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ และรายงานผลการขับเคลื่อนรายเป้าหมายย่อย ต่อ กพย. และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
“ปัจจุบันประชาคมโลกพยายามขับเคลื่อนการดำเนินการด้านน้ำให้มีความยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น โดย FAO ได้กำหนดให้มีการรายงานการดำเนินงานของประเทศในทุก ๆ 3 ปี โดยสำหรับรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (รายงานดัชนี SDG) ที่ สทนช. ได้ดำเนินการจัดส่งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีค่าประสิทธิภาพการใช้น้ำ อยู่ที่ 7.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ลบ. ม. (ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐ/ลบ. ม.) และมีระดับความตึงเครียดด้านน้ำ ร้อยละ 12.6 (ค่าเฉลี่ยโลก ร้อยละ 18)” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับการรายงานของปี 2566 สทนช. มีกำหนดจัดส่งรายงานตัวชี้วัด SDG 6.4.1 การเปลี่ยนแปลงของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกช่วงเวลา (Change in water use efficiency over time) ซึ่งเป็นการประเมินผลมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นเป็นดอลลาร์สหรัฐ (US) ต่อปริมาตรน้ำที่ใช้เป็นลูกบาศก์เมตร (m3) ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 ส่วน คือ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาเป็นรายปี และตัวชี้วัด SDG 6.4.2 ระดับความตึงเครียดด้านน้ำ (Level of water stress) ซึ่งเป็นการประเมินผลอัตราส่วนระหว่างน้ำจืดทั้งหมดที่เอามาใช้ในภาคเศรษฐกิจหลักทั้งหมดกับทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่ และต้องคำนึงถึงการไหลเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย (ร้อยละ) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ทั้งนี้ การจัดทำรายงานดังกล่าว จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเป็นการเฉพาะรายกลุ่มผู้ใช้น้ำ ประเภทของทรัพยากรน้ำที่ใช้ การใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างทรัพยากรน้ำภายในประเทศ และแม่น้ำระหว่างประเทศ รวมทั้ง การใช้น้ำเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้น สทนช. จึงได้ดำเนินโครงการประเมินผลและจัดทำรายงานตามตัวชี้วัด SDG 6.4 ประสิทธิภาพการใช้น้ำและการขาดแคลนน้ำ โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ เพื่อศึกษา ทบทวนแนวทางการจัดเก็บข้อมูลหรือประเมินตัวชี้วัดของเป้าหมายย่อย SDG 6.4 ประสิทธิภาพการใช้น้ำและการขาดแคลนน้ำ อีกทั้งเพื่อประเมินผลและจัดทำรายงานของเป้าหมายย่อย SDG 6.4 ในตัวชี้วัด SDG 6.4.1 ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และตัวชี้วัด SDG 6.4.2 ระดับความตึงเครียดด้านน้ำ ตามรูปแบบที่กำหนด นอกจากนี้ ยังเพื่อเป็นการกำหนดแนวทางให้หน่วยงานด้านน้ำได้จัดเก็บข้อมูลสถิติและรายงานผลอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไปด้วย
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สทนช. ได้จัดการประชุมปฐมนิเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล เพื่อนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ รวมทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด โดย สทนช. มุ่งหวังว่าผลการศึกษาที่ได้รับจะสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการน้ำและลดระดับความเครียดด้านน้ำของประเทศ รวมทั้งใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและความมั่นคงน้ำของประเทศต่อไป