นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยถึงแนวทางการทำงานในปี 2567 โดยย้ำว่า กรุงเทพมหานครจะยังคงเดินหน้าแก้ปัญหา ‘เส้นเลือดฝอย’ ในทุกเขตทุกสำนัก คู่ขนานไปกับ ‘เส้นเลือดใหญ่’ โครงการเมกกะโปรเจ็คต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า อุโมงค์ระบายน้ำ โรงพยาบาลที่จะสร้างอีกหลายแห่ง แต่ภาพรวมปี 67 จะให้ความสำคัญที่สุดใน 2 เรื่อง คือ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่กทม.ละเลยไป ทั้ง 2 เรื่องจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจได้ แต่จะยังไม่ทิ้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม การจัดระเบียบเมือง ปัญหาหาบเร่-แผงลอย เพิ่มพื้นที่สีเขียวและการจัดการสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาน้ำท่วม ความปลอดภัย และความโปร่งใส ทุกสำนัก ทุกเขต ต้องมีความคืบหน้าตามเป้าหมายการทำงานซึ่งจะครบ 2 ปีการทำงานในอีก 6 เดือนนี้

 “เราให้ความสำคัญ 2 เรื่อง คือ การศึกษา กับ การแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ กทม.เราละเลยไปเยอะ จะเห็นได้ว่าเรื่องต่างๆ ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจ ถ้าไม่เริ่มที่คนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ เราจึงพยายามพัฒนาเรื่องการศึกษาซึ่งเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งในแง่ของครูทำห้องเรียนคอมพิวเตอร์คุณภาพทุกคนชอบมาก รวมถึงหลักสูตรห้องเรียนดิจิทัลที่กำลังขยาย และอาหารนักเรียนได้คุณภาพ อีกเรื่องสาธารณสุขก็ได้พัฒนาระบบปฐมภูมิ ภาพใหญ่จะเพิ่มโรงพยาบาล 4 แห่ง วางศิลาฤกษ์ไปแล้วที่ภาษีเจริญ และจะออกแบบอีก 3 แห่งที่ สายไหม ดอนเมือง ทุ่งครุ และ พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง และมีแผนเพิ่มศูนย์ฯมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

มองว่าปัญหาด้านการศึกษา หากไม่พัฒนาให้มีคุณภาพ ก็ยากที่จะพัฒนาด้านอื่นให้ยั่งยืนได้

ฉะนั้นการศึกษาคือหัวใจในการพัฒนาคนให้พ้นความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สร้างคนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในที่สุด เช่น การออกกฎหมายบังคับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจสามารถทำได้ แต่ไม่ได้ผลเท่าการพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกเพื่อให้ความร่วมมือโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

ที่ผ่านมาของ กทม.เป็นปีแห่งการทดลอง ริเริ่ม นำร่อง และแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ มีการทำวิจัยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการเรียนการสอนมากขึ้น โดยมีโครงการเด่นคือ ห้องเรียนดิจิทัล เริ่มนำร่องที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน เป็นแห่งแรก ในนักเรียนระดับชั้น ป.4 ซึ่งโครงการนี้เป็นการผลักดันและกระตุ้นการศึกษาทั้งองคาพยพ เริ่มจากการออกแบบผ่านงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนต่าง ๆ โดยแอพพลิเคชั่น Google Classroom หรือโปรแกรมศูนย์รวมสำหรับการสอนและการเรียนรู้ เพื่อนำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนภายในห้องเรียนดิจิทัล สร้างบรรยากาศการเรียนให้เด็กตื่นตัวในการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปี 66 พัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ครบทั้ง 437 โรงเรียน รวม 598 ห้อง  และเปลี่ยนห้องเรียนเป็น ห้องเรียนดิจิทัลแล้ว 12 ห้องเรียน ใน 6 โรงเรียน เป้าหมายจะทํา 57 ห้องเรียน ใน 11 โรงเรียน(ปัจจุบันได้รับรับบริจาคคอมพิวเตอร์มาแล้ว 645 เครื่อง จากเป้าหมาย 2,177 เครื่อง)

แผนในปี 67 จะเพิ่มห้องเรียนดิจิทัล 100 โรงเรียนระดับชั้น ป.4 และ ม.1 และเพิ่ม Wifi ครบทุกห้องเรียน ทั้ง 437 โรงเรียน สำหรับนโยบายลดภาระคุณครู คืนครูให้นักเรียน ปี 66 จ้างเหมาธุรการมาช่วยครูทํางานเอกสาร 371 คน ในปี 67 จะยกเลิกครูเข้าเวร เพื่อให้ครูมีเวลาให้นักเรียนมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน ปี 66 ประกาศให้สิทธิเด็กแต่งกายและไว้ทรงผมอิสระ , ส่งมอบแว่นตาให้นักเรียนที่มีปัญหาสายตาครบ 100% (ใช้งบสปสช.)  ในปี 67 จะแจกผ้าอนามัยให้นักเรียนหญิง 18,000 คน ในระดับมัธยมครบทั้ง 109 โรงเรียน เปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนเพื่อความโปร่งใส ปี 66 พัฒนาระบบตรวจสอบอาหารเช้า/กลางวันของโรงเรียนให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ ผ่านhttps://bma.thaischoollunch.in.th/bmaphoto/index.php

พัฒนาหลักสูตรการศึกษาสําหรับนักเรียนสังกัด กทม.  ในปี 67 จะนําหลักสูตร EF (สําหรับช่วงชั้นอนุบาล) 429 โรงเรียนอนุบาล และ หลักสูตร Competency-based Learning (สําหรับช่วงชั้นประถม-ม.ต้น) 58 โรงเรียนนําร่อง Education Sandbox , เพิ่มชั้นเรียนอนุบาล 3 ขวบ ใน 191 โรงเรียน (ปัจจุบันเริ่มรับที่ 4 ขวบ)  และ จับมือกับสถาบันอาชีวะศึกษา ร่วมจัดการเรียนการสอนวิชาชีพใน 109 โรงเรียนมัธยม เพื่อรับส่งต่อเด็กกทม. ไปเรียนในระดับปวช. และจัดมหกรรมเรียนต่อสายอาชีพร่วมกัน

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.พยายามเน้นการเข้าถึงการรักษาโดยสะดวก ลดความแออัดของสถานพยาบาล โดย  1.ขยายการบริการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เปิดศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพ (ศูนย์พยาบาลปฐมภูมิขนาดเล็กกระจายตัวตามสถานที่ต่างๆ ให้การรักษาผ่านระบบออนไลน์ ตรวจคัดกรองโรคได้เบื้องต้น) จํานวน 5 แห่ง  ซึ่งในปี 67 จะเปิดเพิ่มอีก 6 แห่ง 2. เพิ่มโรงพยาบาล กทม. ให้มีครอบคลุมกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เขตภาษีเจริญ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 68 มีขนาด 40-60 เตียงและ และเตรียมงบประมาณในการก่อสร้างอีก 3 แห่ง ที่ทุ่งครุ ดอนเมือง สายไหม เพื่อให้โรงพยาบาลมีความครอบคลุมกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น

 3. ขยายศักยภาพโรงพยาบาลสังกัดกทม.ในปี 67 มีแผนขยายโรงพยาบาลตากสินเป็น 636 เตียง , โรงพยาบาลลาดกระบังเป็น 169 เตียง 4. มอเตอร์ไซค์กู้ชีพฉุกเฉิน motorlance ปัจจุบันมีปฏิบัติการอยู่ 539 คัน ให้บริการแพทย์ฉุกเฉินไปมากกว่า 1,150 ครั้ง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง (มีแพทย์ลงตรวจเป็นเวลา จากเดิมมีแค่พยาบาล) ปี 66 ทำแล้ว 6 แห่ง  ในปี 67 จะเพิ่มอีก 6 แห่ง ต่อเนื่องไป จนถึงยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขพลัส (มีบริการพักคอยดูอาการ ลดการส่งตัวไปยัง รพ.) ยกระดับคลินิกกายภาพบําบัด เป็น ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ เพิ่มจํานวนนักกายภาพบําบัด ประจําศูนย์ฯ เพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในระยะฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพ ปี 66 ทำแล้ว 4 แห่ง ปี 67 เพิ่มอีก7 แห่ง

ยกระดับการดูแลสุขภาพจิต (Mental health) ของศูนย์ฯ ในปี 67 จะเพิ่มอัตราจ้างนักจิตวิทยาอย่างน้อย 1 คนต่อศูนย์ฯ เพิ่มศูนย์ฯให้ครอบคลุม ปี 67 จะเปิดเพิ่ม 2 แห่ง ที่เขตราษฎร์บูรณะ และ ภาษีเจริญ พร้อมกับก่อสร้างทดแทนศูนย์เดิม 13 แห่ง และ ปรับปรงุ อีก 13 แห่ง  คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (Pride clinic) ปี 66 มี 24 แห่งปี 67 เพิ่มอีก 4 แห่ง ร่วมทั้ง สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ประชาชนที่ต้องการ ปี 66 ส่งมอบแล้ว 4,730 ราย 8. บริการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก HPV ปี 66 ฉีดไปแล้วมากกว่า 96,000 ราย

“หากถามว่าที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับอะไร เราให้ความสำคัญกับการศึกษาและสาธารณสุข ปัจจุบันก็ยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ผมว่าเรื่องนี้ที่ผ่านมา กทม.ละเลยไปเยอะ เห็นชัดเลยว่าคะแนน PISA ของเด็กไทยลดลง เราพูดเสมอว่าเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไม่เริ่มที่คนไม่มีทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจ กทม.จึงเน้นพัฒนาสองเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งจะมีการทำต่อเนื่องในปีต่อไป ขยายผลโครงการต่าง ๆ ที่เริ่มไว้แล้ว” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า  ในปี 2567 จะมีการเพิ่มความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งเป้าติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว 6 โรงพยาบาล และ สะพานเหล็กข้ามแยก ปรับปรุงสภาพถนนให้พร้อมใช้งาน ควบคุมน้ำหนักบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 67 ติดตั้ง BWIM (Bridge weight in motion) 5 สะพาน ปรับปรุงถนน สะพาน ที่สําคัญ เช่น  ขยายถนนเทพรักษ์ , ถนนกรุงเทพกรีฑา , สะพานเชื่อมถนนทหารเขตดุสิต , ซ่อมสะพานถนนพระราม 9 , ปรับปรุงซอยลาซาล , ปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ําในซอยพัฒนาการ 20 / ซอยอ่อนนุช 17 , บูรณะถนนตามข้อมูล PMS (Planned maintenance system)  

ด้านการจัดระเบียบเมือง แก้ปัญหาหาบเร่-แผงลอย ก็จะยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่อง โดยในปี 2567 จะ จัดหาพื้นที่เอกชน หรือ hawker center ให้ผู้ค้าหาบเร่ อีก 28 จุด พร้อมกับยุบเลิก/ยุบรวมพื้นที่หาบเร่อีก 109 จุด พัฒนาคุณภาพหาบเร่-แผงลอยและพื้นที่การค้าสาธารณะ โดยพัฒนาแผนทํา big cleaning ในจุดผ่อนผัน 95 จุดทุกสัปดาห์ พร้อมติดบ่อดักไขมัน และจุดซักล้างรวมอีก 33 จุด  พร้อมกวดขัดวินัยจราจร จับปรับมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ปี 66 ทํา MOU ร่วมกับผู้ประกอบการโลจิสติก เพื่อส่งเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายให้ดําเนินการทางวินัยภายในบริษัท , ตั้งจุดตรวจจับกุมผู้กระทําผิด 5,439 ราย , ตรวจพบผู้กระทําผิด (กล้อง AI) 52,964 ราย จากกล้อง AI 5 จุดในปี 67 จะเพิ่มจุดตรวจกล้อง AI ให้ครบ 100 จุด

ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียว สํานักสิ่งแวดล้อมจะเข้มข้นในการส่งเสริมการแยกขยะ โดยตั้งเป้าแยกขยะเศษอาหารให้ได้ 6,000 ตัน/เดือน ขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 16,087 ราย ปริมาณขยะลดลง 800 ตัน/วัน ติดตั้งกรงทิ้งขยะเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองเพิ่มอีกอย่างน้อย 150 จุด ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 162 จุด สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ตั้งเป้านํารถไฟฟ้าเข้ามาใช้ใน กทม. แบ่งเป็น รถเก็บขยะ 892 คัน รถบรรทุกน้ำ 1,058 คัน เพิ่มเครือข่าย sensor PM2.5 ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในโรงเรียน และอนุบาลเพิ่มเติม

สุดท้าย นายชัชชติ กล่าวย้ำถึงเป้าหมายปี 67 ว่า ได้ตั้งเป้าหมายการทำงาน จากที่เข้ามา ในปีที่สองนี้ กำหนด 22 เป้าหมายให้สำนักงานเขตดำเนินการ ซึ่งได้สั่งรองผู้ว่าฯ ให้เตรียมสรุปแถลงผลงาน 2 ปี ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่าอีกครึ่งปีที่เหลือ จะต้องเร่งรัดติดตามให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องไหนยังไม่เสร็จก็ต้องเร่งให้เสร็จทัน

ส่วน 22 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1. พัฒนาถนนสวย – 126.60 กม.  2. ปลูกต้นไม้– 200,000 ต้น 3. เพิ่มสวน 15 นาที – 156 แห่ง 4. ปรับปรุงทางเท้า – 324.54 กม. และ ขีดสีตีเส้นทางจักรยาน/ทางเดินซอยย่อย - 498.70 กม. 5. ติดตั้ง/ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่าง – 31,878 ดวง 6. ติดตั้ง/ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง – 7,725 ดวง 7. ยกเลิก/ยุบรวม พื้นที่หาบเร่-แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน – 109 แห่ง 8. จัดหาพื้นที่เอกชน/พัฒนา Hawker Center รองรับผู้ค้าหาบเร่ – 28 แห่ง 9. แก้ไขจุดเสี่ยงน้ําท่วม – 99 จุด 10. แก้ปัญหาจุดจราจรฝืด – 137 แห่ง 11. แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ – 125 แห่ง และ แก้ไขจุดเสี่ยงอาชญากรรม – 322 แห่ง 12. ปรับปรุง/พัฒนาลานกีฬา – 162 แห่ง 13. ปรับปรุง/พัฒนาบ้านหนังสือ – 45 แห่ง

14. ปรับปรุง/พัฒนา ศูนย์เด็กเล็ก – 89 แห่ง 15. ปรับปรุงกายภาพโรงเรียน – 276 แห่ง 16. จัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม (% ของอาคารและหลังคาเรือนในเขตที่สามารถจัดเก็บขยะได้มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์) - 91.23 % และ ปริมาณขยะเศษอาหารที่คัดแยกได้ ภายใต้โครงการ ไม่เทรวม - 62,011 ตัน/ปี 17. พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง , อุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย - 2,009 ชุมชน 18. ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาท/ชุมชน - 328,200,754 บาท 19. ส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพสปสช - 274,376,000 บาท 20. พัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน (% จํานวนคําขอที่เขตสามารถให้บริการได้ภายในกรอบ เวลาตามคู่มือประชาชน) - 80.88 (% จํานวนคําขอ) 21. ขุดลอกท่อ - 4,260.43 กม. 22. ขุดลอกคลอง/เปิดทางน้ำไหล - 3,806.26 กม.