เกือบ 1 ปี ของการทำงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังคงเน้นแก้ปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอย เพราะเชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะดีได้ต้องเริ่มที่เส้นเลือดฝอย ต้องลงไปในระดับชุมชน คู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาในโครงการเส้นเลือดใหญ่ จึงจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิติที่ดีขึ้น โดยการทำงานยังคงยึดหัวใจเรื่อง ความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเดินหน้าทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมือที่น่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

“นโยบายเรามีอยู่ทุกสำนัก ทุกเขต ปีที่ผ่านมาต้องมีพัฒนาการ ธีมใหญ่ที่เราทำคือ เส้นเลือดฝอย! ขณะเดียวกัน ก็ทำเส้นเลือดใหญ่คู่ขนานไปด้วย ส่วนเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค จะเป็นเรื่องที่เราคอนโทรลยาก ที่กังวลอยู่ตอนนี้ มี 3 เรื่อง คือเรื่อง ฝุ่น PM2.5 บีทีเอส และรถติด เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ใช่ง่ายที่จะจัดการ ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เราควบคุม มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง เราก็พยายามทำงานอย่างบูรณาการ ส่วนเรื่องอื่นๆเราไม่กลัว อย่างเรื่องน้ำท่วม ทางเดินเท้า ทุจริตคอรัปชั่น เชื่อว่าเราลุยได้ มาถูกทางแล้ว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  1 ปีที่ผ่านมาเรามีความพยายามเป็นอย่างมากในการเข้าถึงปัญหาและเข้าใจความต้องการของประชาชนในหลากหลายมิติ สิ่งที่น่ายินดีคือ ในปี 2566 กรุงเทพมหานครได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย 1. ระดับดีเด่น สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ได้แก่ ผลงาน BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกทม.หรือ สำนักงาน ก.ก.จากหน่วยงานที่ส่ง จำนวน 740 ผลงาน และ 2. ระดับดี สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริหาร ได้แก่ ผลงาน โครงการ Smart OPD โดย สำนักการแพทย์ จากหน่วยงานที่ส่ง จำนวน 832 ผลงาน และล่าสุดยังได้รับรางวัลอรรธนารีศวร ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2566 ด้านสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทบุคคล และสำนักอนามัย ถือเป็นภาพสะท้อนการทำงานของกทม.ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งแม้จะมีรางวัลจากการทำงานการันตีให้เห็นในปี 2566 แต่ นายชัชชาติ ยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เรื่องการแก้ปัญหาจราจร และเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังเป็นเรื่องที่หนักใจ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ กทม.ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นจำนวนมาก

โดยเรื่องฝุ่น PM2.5 ในปี 2566 กทม.สร้างความร่วมมือได้มากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงานพัฒนากรุงเทพมหานครด้านต่าง ๆ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำให้กิดการเชื่อมความร่วมมือได้ง่ายและเร็วขึ้น มีการกำหนดโจทย์สำคัญโดยตรงกับกทม.คือ ด้านการจราจร และการจัดการฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายเข้ามาร่วมมือกัน มีการนำแนวคิดควบคุมรถเก่าอายุ 7 ปีขึ้นไป ร่วมกับกระทรวงพลังงานผลักดันโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันเครื่อง เนื่องจากไส้กรองฯ เป็นตัวดักเก็บสิ่งเจือปนต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำมันเครื่อง ทั้งเขม่า ตะกอน รวมถึงเศษโลหะของชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ถึงแม้จะไม่ปล่อยควันดำ แต่การศึกษาพบว่า ยังปล่อย PM2.5 อยู่ ถือเป็นมาตรการใหม่เพิ่มเติมในการยับยั้งฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่งเริ่มต้นในปลายปี 2566 คาดว่าจะมีความชัดเจนและเห็นผลมากขึ้นในต้นปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อช่วยกันยับยั้งการเผาในที่โล่ง เนื่องจากฝุ่นลอยตัวตามลมข้ามจังหวัด ส่งผลต่อคนในพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงการร่วมกันควบคุมรถที่วิ่งข้ามจังหวัด โดยเฉพาะการปล่อยควันดำ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่เกินอำนาจ กทม. ต้องอาศัยความร่วมมือกันข้ามจังหวัด ที่สำคัญต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน

ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดปีที่ผ่านมา กทม.มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงสร้างหนี้ พบว่า ต้องชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 22,948,626,080.10 บาท ซึ่งหนี้ส่วนนี้หากกทม.ไม่รับมาดำเนินการจะทำให้มีดอกเบี้ยสูงขึ้นทุกวัน ปัจจุบันมีดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านกว่าบาท โดยคณะกรรมการฯ แนะนำให้ฝ่ายบริหารกทม.เจรจากับบีทีเอสซี เพื่อหยุดการคิดดอกเบี้ยระหว่างที่กทม.กำลังส่งเรื่องไปให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ปัจจุบันเรื่องยังไม่ผ่านการพิจารณาจาก ครม.

อย่างไรก็ตามกทม.กำลังรอคำตอบจากรัฐบาลว่าจะให้ขยายสัมปทานให้บีทีเอสซีแทนการชำระหนี้ หรือจะเปิดประมูลใหม่ตามพรบ.เอกชนร่วมลงทุน รวมถึง อยู่ระหว่างรอความเห็นจากกระทรวงคมนาคม ว่า จะสามารถเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการชั่วคราวในราคา 15 บาท รวมเส้นทางหลักไม่เกิน 62 บาท ได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องทั้งหมด ไม่มีกำหนดการแน่ชัด ปัจจุบันบีทีเอสซียกเลิกดอกเบี้ยส่วนผิดนัดชำระให้ถึงเดือน ม.ค.2567

ส่วนเรื่องปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้กัน นายชัชชาติ ยอมรับว่าหลายเรื่องอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กทม. โดยเฉพาะการแก้ปัญหารถติด กทม.ไม่มีอำนาจไปกวดขันการจราจร หรือไปจับปรับผู้กระทำความผิด ทำได้เฉพาะในส่วนสนับสนุนด้านโครงสร้าง เช่น การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการคำนวณปริมาณรถเพื่อให้สอดคล้องกับระบบสัญญาณไฟจราจร การกำหนดเพื่อแก้ไขจุดฝืดต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนจุดกลับรถ การตีเส้นจราจร การสร้างถนน รวมถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพรถในที่ห้ามจอด แล้วส่งเรื่องต่อให้ตำรวจจราจร ซึ่งต้องประสานงานกับตำรวจจราจรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหารถวิ่งบนทางเท้า ทำให้ทางเท้าเสียหายและอาจเกิดอันตรายต่อประชาชน โดยปี 2567 กทม.ตั้งเป้าสร้างทางเท้า 324.54 กิโลเมตร เริ่มทำไปแล้ว 0.14 กิโลเมตร และตั้งเป้าแก้ไขจุดฝืดจราจร 137 จุด เริ่มดำเนินการไปแล้ว 11 จุด รวมถึงกำหนดแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ 125 จุด ดำเนินการไปแล้ว 10 จุด

“ทั้งสามเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องหนักใจ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น ยอมรับว่า กทม.มีหน้าที่สำคัญในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ไม่สามารถจัดการทั้งหมดได้ หากดูตามแผนแม่บทวาระแห่งชาติ จะพบว่ามีกว่า 20 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ควรเอาจริงเอาจังตามแผนแม่บทวาระแห่งชาติในการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการกำกับใช้เครื่องยนต์ที่มีมาตรฐานยูโร6 ซึ่งมีการกำหนดใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 รวมถึงการกำหนดใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ การกำหนดภาษีรถเก่าที่ก่อมลพิษ และการผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลสามารถผลักดันได้ กทม.ไม่มีอำนาจบังคับใช้” นายชัชชาติ กล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในปี 2566 ที่ผ่านมาอาจเข้าใจกันว่าปริมาณฝนในกรุงเทพฯมีน้อย แต่ความเป็นจริงคือ ฝนน้อยกว่าปี 2565 เพียงปีเดียวเท่านั้น แต่ภาพรวมปริมาณน้ำฝนยังเทียบเท่าปีอื่น ๆ ที่ผ่านมา หากดูจากเดือน ก.ย.ในแต่ละปี ปี 2565 มีปริมาณฝนสูงสุดประมาณ 800 มม. ขณะที่ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนเดือน ก.ย.ย้อนหลัง 30 ปี ประมาณ 322 มม. ส่วนในปี 2566 กทม.มีปริมาณฝนถึง 400 มม. กล่าวได้ว่าเป็นปีที่กทม.เตรียมแผนรับมือน้ำท่วมเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญคือการควบคุมจุดเสี่ยง 737 จุด วางแผนขุดลอกคลองให้ถี่ขึ้นในบริเวณผู้อาศัยหนาแน่นปีละ 2 ครั้ง ส่วนบริเวณผู้อาศัยน้อยอาจขุดลอก 2 ปีต่อ 1 ครั้ง และยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์วัดปริมาณน้ำผิวถนน 108 จุด ในปี 2567 จะเพิ่มอีกประมาณ 100 จุด อยู่ระหว่างต่อรองราคาเพื่อจัดซื้อ