สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 90.83 หดตัวร้อยละ 4.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.01 หลังจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คาดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัว จะส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 90.83 หดตัวร้อยละ 4.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.01 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 57.87 และ 11 เดือนแรกอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 59.38 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการเงินของต่างประเทศยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร สะท้อนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัวร้อยละ 3.37 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองขยายตัวร้อยละ 2.94 โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นในช่วงเวลาหลังจากนี้

นอกจากนี้ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนธันวาคม 2566 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในทุกองค์ประกอบ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่ภาคการผลิตลดลง กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และภาคการก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่งผลต่อการประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังกังวลต่อการขึ้นค่าแรง ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัว ส่วนสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังกังวลเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

-ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.91 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้สำหรับการเดินทางเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเตา จากกิจกรรมการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

-เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.91 จากแหวน สร้อย และเพชรเป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ประเทศคู่ค้าหลักกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นทั้งการท่องที่ยวหรือการจัดงานแสดงอัญมณี และเร่งคำสั่งซื้อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลปีใหม่

-สายไฟและเคเบิลอื่นๆขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.89 จากสายไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งมอบตามคำสั่งซื้อของการไฟฟ้า

-เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.18 เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัว รวมถึงราคาเยื่อกระดาษ กระดาษแข็งและกระดาษคราฟท์ปรับตัวลดลงทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

-เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.31 จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเส้นใยประดิษฐ์อื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยเป็นตามคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ของตกแต่งบ้าน เชือก และสายเคเบิล

 

#MPI #อุตสาหกรรม #ส่งออก