บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

มาลำดับจับกระแสท้องถิ่นกันในปี 2566 เป็นต้นมายันท้ายปี มีเหตุการณ์หรือประเด็นสำคัญใดบ้าง

(1) ข่าวต้นปี 2566 ก็มีการปิดบัญชีสรรหาสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารครบ 1 ปี ที่สำคัญคือเรื่องที่สืบเนื่องมากจากการสอบคัดเลือกบัญชีกบกระโดดที่สอบเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ขึ้นบัญชี แก้ไขบัญชีหลายรอบ มีการร้องเรียน ฟ้องคดีกันมากถึง 500 คดี ที่ได้รับผลกระทบมากคือ บัญชีปลัดสูง บัญชีรองปลัดกลาง และบัญชี ผอ.ต้น หน.ฝ่าย ซึ่งผลจากความไม่เรียบร้อยในการเตรียมการต่างๆ ทำให้การสรรหาในปี 2566 ล่าช้า ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 เพราะมีการยื้อกันว่าจะให้ ก.กลาง หรือ ก.จังหวัดเป็นผู้จัดสอบ ซึ่งมีประเด็นเรื่องลึกๆ ให้วิพากษ์กันได้อีกมากมาย สะท้อนให้เห็นว่า คน อปท.มีแนวคิดมีกลุ่มที่หลากหลาย ล่าสุด กลุ่มคน อปท.สายข้าราชการท้องถิ่นสายงานผู้บริหารได้รวมตัวแสดงพลังเรียกร้อง สถ.เมื่อ 21 ธันวาคม 2566 ตามข่าวมี มท.2 ออกมารับปากว่าจะติดตามเรื่องให้ แต่ถึงปัจจุบันข่าวยังเงียบอยู่

(2) ข่าวกระแสการรวมตัวกันของคนท้องถิ่น ในการขอแก้ไขระเบียบกฎหมายต่างๆ ของ อปท.ที่เป็นอุปสรรค ซึ่งดำเนินการรวบรวมในช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทยชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2566 ไฮไลท์คือ มีกลุ่มแกนนำ อปท.หลายคนไปจัดสัมมนาระดมความคิด โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมแจมในการประมวลปัญหาอยู่ เพราะพรรคได้ประมวลปัญหาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว และยังเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคด้วย เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคก้าวไกลได้จำนวน สส.มาก คน อปท.ต่างก็พอใจ แต่ครั้นตั้งรัฐบาลไม่ได้ ความหวังของคน อปท.ส่วนใหญ่ก็พลันหายไปเช่นกัน

(3) ข่าวประเด็นล่าสุด คือการยกเลิก คำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 หรือ การยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลฉบับใหม่ แต่ก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะข้อยุติยังไม่ลงตัว และมีหลายขั้นตอน คงใช้เวลาถึง 2 ปี

(4) มีข่าวประเด็นสอดแทรกสำคัญคือเรื่อง การตรวจสอบการทุจริตอย่างหนักจาก ป.ป.ช. ที่สืบสาวเริ่มแรกมาจากข่าวการตรวจสอบโครงการเสาไฟกินรี (โซลาร์เซลล์), ตรวจการใช้รถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิง, การจัดซื้อจัดจ้าง ตามกฎหมายพัสดุใหม่ (2560) และกฎหมายฮั้วในการเอื้อประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะ “การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง” (วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท) มาเป็นชุด ที่สำคัญคือ คดีกำนันนก ในขณะที่ของเก่าก็ตามมาเป็นพรวน แม้ว่าบางคดีอาจขาดอายุความละเมิด 10 ปีไปแล้วก็มี เช่น สนามฟุตซอลที่ภาคเหนือ, ทัศนศึกษาเท็จ, ทุจริตสอบแข่งขันสารคาม-กาฬสินธุ์, การใช้จ่ายงบโควิด แถมประปรายคือ คดีเรียกรับเงิน (หัวคิว) ของนายก อปท. ทั้ง การต่อสัญญาจ้างพนักงานจ้าง จากผู้รับเหมา และ เรียกรับโบนัส

ฟันธงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่หลงตกยุค อปท. คือ “การตรวจสอบในความโปร่งใส” (Integrity & Transparency) ใน “การทุจริตคอร์รัปชัน” โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ค่อนข้างจะมีมาก เพราะหน่วย อปท.ที่มีมากถึงเกือบ 8 พันแห่ง ย่อมเป็นจุดที่สามารถมีเรื่องผิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

อปท.บริหารงานแบบ “ธรรมาภิบาล” ต้องทำตัวยืดหยุ่นเหมือน “โช้คอัพ”

ในท่ามกลางกระแสโลกโซเชียลแห่งการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (disrupt & resilience) คน อปท.จึงจำเป็นทำตัวเหมือน “โช้คอัพ” เหมือนแหนบรถยนต์แข็งบ้างอ่อนบ้างไปตามสภาวะแห่งเหตุการณ์โลก อย่าทำตัวเหมือนคาน เพราะหากเบี้ยวแล้วแก้ไขยาก การทำตัวเหมือนคานควรใช้ในกรณีเหตุจำเป็น หันมาดูที่ระบบการทำงาน ในกระบวนการที่เป็นระบบนั้น หรือเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ว่าจะต้องมีการตรวจสอบในทุกหน่วยงาน กระบวนงานราชการ คือโครงสร้างการบริหาร การดำเนินงาน ที่ไม่สามารถทำตามใจแบบบริหารเอกชนได้ การบริหารราชการจึงแตกต่างจากเอกชน

ย้อนไปถึงหลัก Good Government ของธนาคารโลกในปี พ.ศ.2532 นำมาสู่ Good Governance ของไทย ในปี 2546 ตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และมาจนถึง โครงการตรวจประเมิน ITA ของ สำนักงาน ป.ป.ช. ในปัจจุบันบริหารงานแบบ “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) ที่ใช้ในระบบราชการ ได้นำไปใช้ในองค์กรหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือแม้แต่องค์กรเอกชนเองก็ตาม ที่เรียกว่า “บรรษัทภิบาล” (Corporate Governance) ซึ่งก็คือ ธรรมาภิบาลที่ล้อมาจากราชการนั่นเอง การบริหารในวัดใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนก็ใช้ธรรมาภิบาลเหมือนกันตรงนี้คือประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ เสียก่อนว่า ทำไมต้องมีการตรวจประเมินกัน

ITA (Integrity and Transparency Assessment) ที่ตรวจสอบการทุกหน่วยงานของรัฐ มีแบบสำคัญ 3 แบบ คือ แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT), แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) และ แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ITA เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบัน (ปี 2565) มีตัวชี้วัดหลักการพื้นฐาน 3 ส่วน 10 ตัวชี้วัดหลัก มีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศเข้าร่วมการประเมิน 8,303 แห่ง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ITA มีการตรวจประเมินกันหมดในทุกหน่วยงาน ไม่มีเว้นแม้แต่ อปท.ทุกแห่ง ที่ล้วนมีคะแนนผลการตรวจสอบเป็นไปตามเป้าหมายและเกินเป้าหมาย แต่ผลที่มีต่อภาพลักษณ์ของการทุจริตเหมือนเดิม และดูเหมือนว่าจำนวนคดีทุจริตกลับมีมากไม่สอดคล้องกับผลคะแนนการประเมินที่สูงขึ้นแทบทุกหน่วย เพราะเกณฑ์ชี้วัดที่สำคัญคือ ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล ตามแบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT) เป็นตัวชี้วัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันบนเว็บไซต์ของหน่วยงานเพื่อเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานให้สาธารณชนได้รับทราบใน 5 ประเด็น คือ ข้อมูลพื้นฐาน, การบริหารงาน, การบริหารเงินงบประมาณ, การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการส่งเสริมความโปร่งใสในหน่วยงาน ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นข้างต้นแสดงถึงความโปร่งใสในการบริหารงานและการดำเนินงานของหน่วยงาน ความตอนที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงไปตามสมควรแล้ว ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง

ความเป็นมาของการประเมิน LPA

ต้นเหตุแห่งความเชื่อถือ หรือไม่เชื่อถือใน “ความโปร่งใส” ของท้องถิ่นขอตั้งต้นเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพของ อปท. ในหลายๆ การประเมิน ที่สำคัญคือ การประเมิน LPA, ITA, และการตรวจประเมินเพื่อขอรับเงิน Bonus (เงินประโยชน์ตอบแทนอื่น) โดยคาดหวังให้เป็นเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม

LPA มีความสำคัญและมีประโยชน์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายด้านซึ่งแต่ละด้านจะมี LPA เป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพที่ทำให้ อปท.ได้ทราบปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น และเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของ อปท.อีกด้วย สุดท้ายประชาชนในพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ จึงถือว่าการประเมิน LPA เป็นกระบวนการแบบตรวจประเมิน ตรวจสอบองค์การที่นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ

สถ.มีการกำหนดระบบการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของ อปท.ในรูปแบบของการ “ประเมินมาตรฐานการปฏิบัติราชการและนิเทศ อปท.” ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา และพัฒนาวิธีการ รูปแบบ หลักเกณฑ์และมาตรฐานการประเมิน อปท.มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดิมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ อปท.มักเรียกกันว่า “การประเมิน Core Team” ในปี พ.ศ.2558 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เปลี่ยนชื่อเครื่องมือการประเมินนี้ว่า “การประเมินประสิทธิภาพของ อปท.” หรือ “Local Performance Assessment : LPA” เพื่อให้ทั้งส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ อปท. และบุคคลทั่วไปทราบว่า การดำเนินงานของ อปท.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) มีมาตรฐานขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันทั้งประเทศ ประชาชนสามารถได้รับบริการจาก อปท.ในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งให้ อปท.แต่ละแห่งทราบสถานะของตนเอง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ อปท.พัฒนาศักยภาพการดำเนินงานต่อไปโดยไม่หยุดนิ่ง ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2559 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พัฒนารูปแบบและวิธีการประเมินให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยเพิ่มการประเมินผลการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล ทำให้ในปัจจุบันการประเมิน LPA มี 5 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1) การบริหารจัดการ ด้านที่ 2) การบริหารงานบุคคลและกิจการสภา ด้านที่ 3) การบริหารงานการเงินและการคลัง ด้านที่ 4) การบริการสาธารณะ ด้านที่ 5) ธรรมาภิบาล

ประโยชน์จากการตรวจประเมิน LPA

เกิดมีคำถามฮิตว่า “การประเมินตรวจ LPA ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง” จาก LPA แม้ว่าท้องถิ่นจะทำงานเพื่อตอบสนองต่อไปประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ใช่สนองต่อนโยบายของราชการส่วนกลางโดยตรงก็ตาม การประเมิน LPA (Local Performance Assessment : การประเมินประสิทธิภาพของ อปท.) ซึ่งเป็นการประเมินของท้องถิ่นโดยเฉพาะ ส่วนดีก็มีมาก แต่ส่วนสอดแทรก ที่ไม่ดี ขี้โกง ก็มี การประเมินจึงตอแหล เพื่อให้ได้คะแนน ดีๆ ซึ่ง ไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มี นี่คือจุดอ่อน อย่างไรก็ดี การประเมิน LPA มีผลดีต่อหน่วยงานผู้กำกับดูแลแน่นอน ที่จะได้อานิสงส์ได้หน้าได้ตา ได้คะแนน ได้รางวัลเชิดชู เป็นผลงานของหน่วยกำกับ ดังที่เราพบเห็นกันอยู่ว่า มหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดอำเภอที่นำผลงานรางวัล ดีเด่นของท้องถิ่น เพื่อไปประกอบการอ้างรับรางวัลต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติที่หลายคน แม้จะมองเห็นก็มิอาจ โต้แย้งได้ เพราะเขาคือผู้กำกับดูแล ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งเป็นแรงหนุน ให้กับท้องถิ่นได้บรรลุเป้าหมายได้รางวัลดังกล่าวนั่นเอง เป็นความจริงที่คนไม่พูดกัน เพราะผู้อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า พูดไปอาจจะเสียรังวัดได้

ภาพลบการตรวจ LPA

การตรวจ LPA เพื่อให้ได้คะแนนสูง เป็นบันไดไปสู่การตรวจประเมินขอรับโบนัสหรือเงินประโยชน์ตอบแทนอื่น ของอปท. หลายท้องถิ่นตัดใจไม่ยอมตรวจประเมินขอรับโบนัสประจำปี ยังมีประเด็นที่ต้องหันมาถามว่า ทำไมเกิดเหตุอะไรขึ้น หรือว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเบื่อหน่ายต่อการทำข้อมูลต่างๆ เพื่อขอรับการประเมิน เพราะข้อมูล บางอย่างสวนความเป็นจริงยาก มีแต่แนวตอแหล ตุกติก ซิกแซก (ลวดลาย) เมฆ เว่อร์ ทิพย์ ปลอม ตบแต่ง ลอกเลียน ก๊อบปี้ ปิดบัง สมคบคิด เอาแต่ข้อมูลส่วนดี เจ้าหน้าที่เขาจึงไม่อยากได้โบนัส เพราะตราบใดหากพี่น้องประชาชนยังมีความเป็นอยู่แบบยากจนแร้นแค้น มีการพัฒนาที่ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัด เจ้าหน้าที่ก็อาย ก็อย่าไปทำ LPA ปลอม เพื่ออยากได้โบนัสกันต่อไปเลย ไม่มีประโยชน์ อันเป็นคำพูดแบบสบถของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิเสธ ก็ต้องกลับไปมองย้อนว่า มันมีอะไรแฝงอยู่ภายในหรือไม่ ในทางกลับกันเงินรางวัลโบนัสที่ได้มา จะเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่อาจกลายเป็นเงินสีเทาสีดำ ในการกินเลี้ยงฉลอง แจกจ่ายแบ่งปันหัวคิวกันเสียมากกว่า กลายเป็นเงินรางวัลที่ไม่มีคุณค่าได้ มีข่าวว่าบางอปท.นั้น อ้างการหักหัวคิว โบนัส ก็เพื่อเอาไปทำประโยชน์สาธารณะ ในส่วนอื่นที่ ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ หรือการเบิกจ่ายต่างๆ ให้แก่ประชาชน หรือข้าราชการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณได้ หรือนำไปรวมกันเป็นเงินกองกลางเพื่อใช้จ่ายอื่นๆ เป็นค่าบัตรการกุศล, การทำบุญ, การเรี่ยไรต่างๆ, การจ่ายค่าสนับสนับสนุนให้หน่วยเหนือที่ขอมา, งบค่าทดลองไปราชการ, ค่าเบี้ยเลี้ยงฯ เจ้าหน้าที่ต่างๆ, เป็นค่าจ้างพนักงาน ที่ถูกเลิกจ้าง หรือ พนักงานจ้างเหมาบริการที่ไม่เบิกจากงบราชการ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นข้ออ้างและล้วนเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะ นี่คือการทุจริตเชิงนโยบายในรูปแบบหนึ่ง และถือเป็นการเบียดบัง เพราะเป็นสิทธิโดยชอบของเจ้าหน้าที่ ที่รับเงินมาโดยชอบ แต่เงินกลับนำไปใช้จ่าย ในสิ่งที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงินโบนัส ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่มิชอบของผู้บริหาร หรือแม้แต่ในส่วนข้าราชการด้วยกันเอง เพียงแค่มองว่า เงินโบนัสส่วนนี้ เมื่อได้มาเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ควรจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นบ้าง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะมันมิใช่เงินกินเปล่า แต่เป็นเงินเพื่อการสร้างขวัญกำลังใจ แก่เจ้าหน้าที่ต่างหาก ดังนั้นจึงมักเป็นข่าวอยู่เสมอว่า มีการเรียกรับหัวคิวโบนัส 10% ไม่ว่าจะโดยถูกบังคับกะเกณฑ์ หรือสมัครใจจ่าย หรือลงขันกันก็ตาม เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามข้ออ้างต่างๆ ที่ผู้บริหารต้องการอันเป็นการทุจริต “เรียกรับ” มีโทษทางอาญาอยู่เนืองๆ เนื่องจากเป็นเงิน เจ้าหน้าที่ที่ยินยอมสมัครใจสมยอมจ่าย จึงมักไม่มีพยานหลักฐาน ในการเรียกรับ ให้เป็นคดีความทางอาญา หรือเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งประการหนึ่ง เป็นจุดอ่อนในวิสัยทัศน์ ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ อปท. อีกประการ หนึ่งที่เจ้าหน้าที่สมยอมจ่ายก็เพื่อมิให้ตนเป็นแกะดำ ไม่เป็นที่รังเกียจของฝ่ายบริหาร หรือแม้แต่ในระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ที่ไม่ยอมเสียสละ ทำบุญแบ่งปัน นี่ก็เป็นวิสัยทัศน์เป็นความคิดที่ผิดเช่นกัน

แม้ว่าการตรวจประเมินจะมีผลประโยชน์โดยรวมเกิดขึ้นก็ตาม แต่เมื่อคนทำงานเบื่อ ย่อมส่งผลกระทบต่อการ ตรวจประเมินแน่นอน ต้องยอมรับว่า การทำให้โปร่งใสนั้น แม้จะไม่ส่งผลให้เกิดความโปร่งใสได้ทันทีก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ที่คนในองค์กรต้องทำปัญหาเรื่องคนภายใน คนภายนอกที่มายินยอมให้ข้อมูลการประเมิน (สัมภาษณ์) ที่ถูกต้องสำคัญมาก ยิ่งคนภายนอกยิ่งสำคัญมากกว่า เพราะเป็นคนนอกที่มามององค์กร หากมองด้วยใจเป็นธรรมเป็นกลางไม่มีอคติ นั่นคือข้อมูลที่ถูกต้องสำคัญ

ระเบียบโบนัสที่แก้ไขประกาศแก้ไขใหม่ 2566

การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติราชการเพื่อขอรับเงินรางวัลประจำปี (เงินโบนัส) ของ อปท. ตามประกาศ ก.จังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ข้อ 4 (1.1) มีสาระสำคัญคือ 1) การคำนวณวงเงินคงเหลือจากค่าใช้จ่ายเงินเดือน ค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่กำหนดไว้ไม่สูงกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ขอรับการประเมิน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 35 ที่กำหนดให้การจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และประโยชน์ตอบแทนอื่นที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมถึงเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดจะกำหนดสูงกว่าร้อยละ 40 ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ได้ 2) อปท.ต้องได้รับผลคะแนนการประเมิน LPA ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในปีงบประมาณที่ผ่านมาของปีที่ขอรับการประเมินทุกด้านๆ ละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และมีงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เสนอขอรับการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยคิดคำนวณจากยอดรวมของงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุน เปรียบเทียบกับยอดรวมของงบประมาณรายจ่าย

มีข้อสังเกตว่า การกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขโบนัสให้จ่ายได้ยากขึ้น เสมือนแกล้ง อปท. ปิดประตูเพื่อมิให้ได้รับเงินโบนัส ท้องถิ่นที่เป็น อปท.ขนาดเล็กหรือแม้แต่ อปท.ขนาดใหญ่บางแห่ง อาจไม่เห็นความสำคัญของการประเมิน ไม่ต้องไปตรวจประเมิน LPA ไปตรวจโบนัสให้ยุ่งยากก็ไม่เดือดร้อน ไม่รู้ว่าเขาประเมินไปทำไม เพื่ออะไร ประชาชนใครได้ประโยชน์ตรงไหน นี่อาจเป็นการเหลียวหน้าเหลียวหลังมองท้องถิ่นในรอบปี 2566 ได้อีกหลายๆ รอบนะ สมกับที่ท้องถิ่นไทยปี 2566 ไม่ตกยุคอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) โดยแท้