นางสาว รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า...
นายกฯเศรษฐามอบหมายงาน รมว.พีระพันธุ์เพิ่มเป็นกระบุง หวังบั่นทอนความจดจ่อแก้ปัญหาพลังงานหรือไม่!?
วาทะแห่งปีของนายกฯเศรษฐา
”ผมจะทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย “
ประชาชนอยากขอท่านนายกฯช่วยโฟกัสการทำงาน และการมอบงานให้รองนายกฯ พีระพันธุ์ให้ทำงานเพื่อให้ “ประชาชนหายเหน็ดเหนื่อยจากการแบกราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้มและ ราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรมด้วย” ได้หรือไม่?
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. .ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (26 ธ.ค.) ได้มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 381/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ปรากฎว่า นายกฯมอบหมายงานรับผิดชอบให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี เป็นกระบุง เช่นเป็นประธานกรรมการ 4 คณะ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ, คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ, คณะกรรมการพัฒนาระบบติดตามคนหาย และการพิสูจน์คนนิรนาม และศพนิรนาม รวมถึงให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ รองประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.), รองประธานกรรมการการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, รองประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ อีกทั้งให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป...
ดิฉันเกิดความสงสัยว่า การมอบอำนาจหน้าที่แบบนี้ เป็นการลดทอนความจดจ่อต่อการแก้ปัญหาราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งคือหน้าที่หลักของรัฐมนตรีพลังงาน ใช่หรือไม่!?
ถ้านายกฯเป็นนักบริหาร และเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาใหญ่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่องพลังงาน ควรมอบอำนาจที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ ให้ครบจบในดาบเดียว ไม่ใช่มอบอำนาจแบบเบี้ยหัวแตก หรือขี่ช้างไล่จับตั๊กแตน โดยไม่มีการโฟกัส พุ่งเป้าไปแก้ปัญหาหลัก
การมอบหมายรองนายกฯพีระพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นรองประธาน กพช. ที่จริงแล้วสมควรมอบอำนาจให้ท่านทำหน้าที่เป็นประธาน กพช.เสียเลยจะได้มีหน้าที่และอำนาจสั่งการแก้ มติต่างๆในอดีตที่กพช.ได้ออกมติที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และควรมอบอำนาจการกำกับดูแล ปตท.ที่รัฐถือหุ้นเกิน 51% เพื่อให้รัฐมนตรีมีอำนาจ มีดาบในการแก้ปัญหาได้ นอกจากนั้น ควรสั่งการให้รมว.กระทรวงพาณิชย์ ทำงานประสานกับ รมว.พลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ในฐานะเป็นสินค้าควบคุมราคา จะได้ไม่โยนกันไปมา ว่าเป็นหน้าที่ของใคร ภายใต้นายกฯคนเดียวกัน
ขอเสนอการมอบอำนาจหน้าที่แบบเจาะจงแก้ปัญหาราคาพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่เรื้อรังมายาวนาน
ประการแรก ในฐานะประธานกพช. และมีอำนาจกำกับปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ รองนายกพีระพันธุ์ เคยขอดูต้นทุนราคาน้ำมันจากปตท.แต่บอกว่า ขอไม่ได้ จะได้ขอได้เสียที
ประการที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจกำกับปตท.ในนามผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% แทนประชาชนทั่วประเทศจะสามารถสั่งการให้ปตท. ทำตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดให้ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร บวกลบได้40 สต./ลิตร ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าการตลาดอย่างวันนี้(วันที่27 ธค. ) สูงไปถึง 4.20 - 4.70 บาท/ลิตร และยังประกาศจะตรึงราคานี้ไว้10 วันเป็นของขวัญปีใหม่ !?! ไม่น่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนอยากได้ ใช่หรือไม่
การสั่งให้รัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 51% ทำตามนโยบายเรื่องค่าการตลาด ย่อมจะช่วยคุมค่าการตลาดของปั๊มน้ำมันภายใต้แบรนด์ใหญ่และปั๊มอื่นๆไปได้ด้วย การคุมค่าการตลาดเบนซิน แก๊สโซฮอล์ได้ที่2บาท จะลดราคาให้ประชาชนลงได้ทันที 2บาท/ลิตรเลยทีเดียว
ประการที่ 3 การเป็นประธานกพช. รัฐมนตรีพีระพันธุ์สามารถยกเลิกมติกพช.ที่ให้ใช้ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นเป็นราคาเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ ( Import Parity) สมัยที่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ (อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลประชาธิปัตย์) มานั่งเป็นประธาน กพช. เคยสั่งให้ปตท. สมัยยังไม่ได้แปรรูป ให้เปลี่ยนราคาหน้าโรงกลั่นเป็นเทียบเท่ากับราคาส่งออก แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสมัยนั้นโรงกลั่นเพิ่งส่งออกน้ำมันเพียงประมาณ 5,000 ลิตร แต่ปัจจุบันน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกมีมูลค่ากว่า 3แสนล้านบาทในปี 2565 จึงสมควรที่รองพีระพันธ์ุจะมีมติกพช. ให้ใช้ราคาหน้าโรงกลั่นเป็นราคาเทียบเท่าการส่งออก (Export Parity)
เพียงแค่ตัดค่าใช้จ่ายเสมือนนำเข้าที่ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ค่าสูญเสียระหว่างทางจากสิงคโปร์มาไทยออกไป ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทิพย์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ราคาน้ำมันจะลดลงไปได้ 1-1.50 บาท/ลิตร เลยทีเดียว และถ้าใช้ราคาน้ำมันเทียบเท่าการส่งออก ราคาจะลดลงได้มากกว่านี้อีก
ประการที่ 4 ราคาเอทานอล 30.29 บาท/ลิตร สูงกว่าราคาน้ำมันพื้นฐานประมาณ 10 บาท/ลิตร การผสมเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ ทำให้น้ำมันแพงขึ้น เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ใช้น้ำมัน ราคาเอทานอลไม่มีการตรวจสอบเรื่องราคาว่าเหตุใดเป็นราคาที่แพงกว่าน้ำมันพื้นฐาน 10 บาททั้งที่วิ่งได้ระยะทางน้อยกว่า30% จึงสมควรตัดออกไป ถ้าไม่สามารถทำให้ราคาเอทานอลใกล้เคียงน้ำมันเบนซินพื้นฐานหรือไม่ถ้าอ้างว่าเพื่อช่วยเกษตรกร ก็ไมควรให้มีราคาสูงเกินน้ำมันพื้นฐาน10% ขึ้นไป หากแพงกว่าน้ำมันพื้นฐานมาก ก็สมควรตัดออกไป ใช่หรือไม่
ประการที่ 5 ยกเลิกมติกพช.ที่ให้ใช้ราคาก๊าซหุงต้มเสมือนนำเข้าจากซาอุดิอารเบีย (Import Parity)แบบเดียวกับน้ำมันที่ใช้ราคานำเข้าจากสิงคโปร์ เพราะก๊าซหุงต้มที่คนไทยใช้ผลิตได้เพียงพอจากก๊าซในอ่าวไทย
ถ้าแก้มติกพช.ข้อนี้ได้ จะช่วยลดราคาก๊าซหุงต้มของประชาชนลงได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องล้วงกระเป๋าประชาชน และกู้มาใส่กองทุนน้ำมัน เพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มที่ถูกทำให้สูงเกินจริง จากการสมมุติราคานำเข้าจากซาอุดิอารเบีย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ค้าเกินสมควร ใช่หรือไม่
การเป็นประธานกพช. จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายพลังงานที่เป็นธรรมต่อประชาชน ถ้าทำงานแบบไม่ลูบหน้าปะจมูก ที่ยกมาแค่ 5 ประการ เป็นประเด็นที่รมว.พลังงานมีอำนาจสั่งการได้ทันที ยังมีอีกหลายประการที่ทำได้มากกว่านี้ แต่ขอให้ท่านรัฐมนตรีทำให้เห็นผลสักเรื่องหนึ่งก่อน โดยเริ่มจากค่าการตลาดที่สั่งการให้ปตท.ปฏิบัติตามนโยบายค่าการตลาดของ กบง. ให้เรื่องนี้ได้ จะเป็นการลดราคาน้ำมันให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน ไม่ต้องเอาภาษี หรือกองทุนมาลดราคา และสามารถทำได้ทันที เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนมีเงินเหลือในกระเป๋าได้จริงๆสักที
รสนา โตสิตระกูล
27 ธันวาคม 2566