สัปดาห์พระเครื่อง/ ราม วัชรประดิษฐ์
พระรอดพิมพ์ตื้น เป็นพิมพ์สุดท้ายในจำนวน1ใน 5 พิมพ์ของพระรอด ซึ่งประกอบไปด้วย พระรอดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพระรอดพิมพ์ตื้น ซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนัก เท่าที่เห็นถ้าเป็นพระที่ยังไม่ถูกใช้หรือสัมผัสจนสึก จึงสามารถเห็นรายละเอียดของพระพักตร์ได้อย่างชัดเจนแทบทุกองค์ ความลึกขององค์พระกับผนังโพธิ์ก็ยังคงความลึกอยู่เช่นเดียวกับทุกพิมพ์ การสังเกตพระรอด พิมพ์ตื้น ให้ดูที่ซอกพระพาหา (แขน) จะตื้น ร่องระหว่างพระหัตถ์ซ้ายที่วางบนพระเพลาและร่องระหว่างพระเพลากับฐานก็จะตื้น ร่องระหว่างฐานต่างๆ ก็จะตื้นกว่าพระรอดพิมพ์อื่นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ และยังทำให้ดูเส้นรายละเอียดของพระเพลาเป็นเส้นสายเรียวเล็กไปด้วย
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ของ พระรอด พิมพ์ตื้น
- มีแถวใบโพธิ์แถวเดียว ไม่มีแถวใบโพธิ์ชั้นใน และใบโพธิ์เป็นรูปคมขวาน
- มีรอบพิมพ์แตก ที่แบ่งเป็น 2 แบบ
แบบที่ 1 จากบริเวณข้างพระเศียรด้านซ้ายขององค์พระวิ่งลงมา และบริเวณข้างพระกรรณด้านซ้ายขององค์พระวิ่งยาวลงมาถึงพระอังสา (หัวไหล่)
แบบที่ 2 จากข้างพระกรรณด้านซ้ายวิ่งตรงไปยังผนังโพธิ์ และจากเหนือพระอังสา (หัวไหล่)
ด้านซ้ายวิ่งลงมาข้างๆ พระพาหา (แขน) ด้านซ้าย
- พระกรรณจะเป็นห่วงคล้ายตะของอออกทั้งสองข้าง
- พระกัประ (ข้อศอก) ซ้ายหักเป็นสองขยัก
- มีฐาน 3 ชั้น เช่นเดียวกับพระรอดพิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์ต้อ ส่วนทางด้านพุทธคุณพระรอดทุกองค์ทุกพิมพ์พระรอด กรุพระเจดีย์ วัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นพระเครื่องมีความงดงามทางพุทธศิลปะ สมกับที่ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีที่มีความเป็นเลิศทางพุทธคุณครบครัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน อุดมด้วยโภคทรัพย์ ร่ำรวยทรัพย์ เด่นทางแคล้วคลาด คุ้มภัย เป็นเลิศครับผม