เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เปิดให้สมาชิกปรึกษาหารือ โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. หารือว่า กรณีรัฐบาลเตรียมทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3 ครั้ง ซึ่งทางวุฒิสภาได้ศึกษารายงานข้อเสนอ และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มาชี้แจง วุฒิสภามีข้อกังวลคือ การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยการทำประชามติตามแนวทางของรัฐบาลนั้น ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งละ 3,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งทั่วไป รวม 3 ครั้ง จำนวน 10,500 ล้านบาท และถัดมายังต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งไม่เคยมีมาในประเทศไทย คาดว่าต้องใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินเดือน ส.ส.ร. อีก 200 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วต้องใช้เงินประมาณ 15,700 ล้านบาท หรือมากกว่า
“สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะขอว่าไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 1 และหมวด 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ นั้นมีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทั้งสิ้น 39 มาตรา อยู่ในหมวด 1 และหมวด 2 จำนวน 11 มาตรา ยังมีเหลืออีกหลายมาตราอยู่ในหมวดอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึงว่าจะทำประชามติและแก้ไขได้หรือไม่ จึงขอฝากให้รัฐบาลพิจารณาว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนที่จะมีการร่างหรือแก้ไขในรัฐสภา”