สุขภาพทางเพศ (Sexual Health) ไม่ใช่แค่เรื่องของ การมีเพศสัมพันธ์หรือโรคติดต่อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทั้งเรื่องของสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างยอมรับเรื่องทางเพศมากขึ้น การพูดถึงความสัมพันธ์ทางเพศหรือปัญหาสุขภาพทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย ในทางกลับกันเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงและวิธีการรับมือมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction, ED) หรืออาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือที่เรียกกันติดปากว่านกเขาไม่ขัน ที่ก่อปัญหานี้ให้กับผู้ชายทั่วโลกร้อยละ 40-50% ในชายอายุ 40-65 ปีขึ้นไป และจะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นถ้ามีโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ความดัน หรือไขมันในเลือดสูง ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานยิ่งเพิ่มโอกาสอวัยวะเพศไม่แข็งตัวมากถึง 3 เท่า
นพ.ปิยะพงศ์ สุวรรณสัญญา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน คลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าวว่า การมีสุขภาพทางเพศที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากเป็นหนึ่งในความสุขที่มาเติมเต็มการใช้ชีวิต โดยเฉพาะชีวิตครอบครัว ยังมีความสำคัญในแง่ของสุขภาพ ทั้งทางกายและด้านจิตใจ เช่น ถ้ามีปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะทำให้ไม่มั่นใจ เกิดความเครียด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตขณะเดียวกันอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรืออวัยวะเพศไม่แข็งตัว ยังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพทางกาย เกี่ยวกับการไหลเวียนของเส้นเลือด สามารถสืบค้นต่อไปยังปัญหาในจุดอื่นๆ เช่นปัญหาที่กล้ามเนื้อหัวใจหรือที่เส้นเลือดสมองอุดตัน ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาทางแก้ไขแต่เนิ่นๆ
ปัญหาสุขภาพทางเพศในเพศชายที่พบบ่อยคือ การเสื่อมถอยของร่างกายไปตามกลไกธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนบางตัวอย่างเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชาย จะลดน้อยลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หากมีการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ หรือรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแก่ตัวและเสื่อมเร็วขึ้น การทำงานของส่วนต่างๆ ด้อยลง ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เชื่อมโยงไปถึงการแข็งตัวของอวัยวะเพศ อารมณ์ทางเพศ อรรถรสของการมีเพศสัมพันธ์ลดลง นอกจากนี้ การหลั่งเร็ว (Premature Ejaculation, PE) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่าล่มปากอ่าว เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว รวมถึงสุขภาพร่างกายโดยรวมเช่นกัน อาจใช้การปรับความเข้าใจและเทคนิคการปรับพฤติกรรม การลดความไวต่อความรู้สึกของอวัยวะเพศ หรือการรับยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการประเมินของแพทย์ผู้ชำนาญการ
นพ.ปิยะพงศ์ ไขข้อสงสัยว่า ในความเป็นจริงไม่มีการกำหนดตายตัวว่าในหนึ่งสัปดาห์ควรมีกิจกรรมทางเพศกี่ครั้ง ถ้าไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันถือว่าไม่ผิดปกติ ขึ้นอยู่กับทัศนคติและประสบการณ์ส่วนบุคคลที่มีมาก่อนหน้าด้วย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การปรับจูนเข้าหากันของคู่ชีวิตมากกว่า ถ้าไม่มีปัญหากับชีวิตคู่ ถือว่าปกติและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทร่วมในการรักษาอาการเจ็บป่วยของร่างกาย อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศก็เช่นกัน
ทั้งนี้ บุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดต่างๆ โรคเกี่ยวกับความเครียด โรคซึมเศร้า ฯลฯ รวมถึงผู้ที่พักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ โดยมีการทำวิจัยให้อาสาสมัครนอนวันละ 6 ชม.นาน 1 สัปดาห์ พบว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เทียบเท่ากับผู้ที่อายุมากกว่าถึง 10 ปี และมีโอกาสที่จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
สำหรับการป้องกันเบื้องต้น นอกจากการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุราของมึนเมา สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ทั้งนอนหลับวันละ 7-9 ชม. ถ้านอนไม่หลับต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบ เช่น การดื่มกาแฟ เล่นโทรศัพท์หรือกินอาหารก่อนนอน ทำให้หลับไม่ลึก ฯลฯ การกินอาหารควรเลือกกินผักผลไม้มากขึ้น อย่าง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สตรอเบอรี แตงโม กีวี วอลนัต อาหารที่มีอาร์จินีน (Arginine) หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ของทอด อาหารกระป๋อง รวมทั้งอาหารที่ผ่านกระบวนการมากๆ จำพวกไส้กรอก หรืออาหารแปลรูป ทำให้มีการอักเสบในร่างกาย ในเส้นเลือด และความเครียดที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทำให้ฮอร์โมนลดลง การออกกำลังกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และเพิ่มการเวท (Weight training) อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศและช่วยภูมิคุ้มกันได้ดี นอกจากนี้การทำสมาธิก่อนนอนวันละ 10 นาทียังเป็นอีกวิธีช่วยลดความเครียดและปรับสมดุลของร่างกายได้