Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 34.46-34.68 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยมีจังหวะเงินบาทแข็งค่าหลุดแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ขณะเดียวกันราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่องตามคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทได้พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ออกมาสูงกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำ
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงปลายสัปดาห์จากรายงาน GDP ไตรมาส 3 สหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ชะลอลงต่อเนื่อง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรายงานยอดการส่งออก/นำเข้าของไทย พร้อมเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงปริมาณธุรกรรมในตลาดการเงินเบาบางลง

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – สัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อาจมีไม่มาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจให้ความสนใจกับรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ ยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่สดใส ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี, 5 ปี และ 7 ปี เพื่อประเมินความต้องการถือครองพันธบัตรของผู้เล่นในตลาด โดยหากความต้องการบอนด์สหรัฐฯ กลับน้อยกว่าคาด ซึ่งอาจสะท้อนจากอัตรา Bid to Coverage Ratio (BCR) ที่ลดลงจากรอบการประมูลครั้งก่อน หรือ BCR < 2x ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ ตลาดการเงินสหรัฐฯ อาจเริ่มเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลทั้ง คริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้ปริมาณธุรกรรมในตลาดการเงินอาจลดลง ทว่า ความผันผวนในตลาดก็อาจสูงได้ในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะในฝั่งตลาดค่าเงิน ที่มักจะผันผวนสูงในช่วงปลายปี 

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายของผู้คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่จะขยายตัวราว +0.5%m/m ส่วนในฝั่งเวียดนาม นักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวได้กว่า +5.9%y/y ในไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคที่ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคมที่จะโตกว่า +10%y/y นอกจากนี้ เศรษฐกิจโดยรวมยังได้แรงหนุนจากการขยายตัวกว่า +7.9%y/y ของยอดการส่งออกเช่นกัน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2024 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามอาจขยายตัวราว +5.8%y/y เร่งตัวขึ้นจากปี 2023 ที่อาจขยายตัวราว +5%y/y ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจในปี 2024 และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของจีน ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะช่วยประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้ โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการบริการของจีนอาจอยู่ที่ระดับ 50.3 จุด สะท้อนภาพการขยายตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการ ขณะที่ ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวอยู่ สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับต่ำกว่า 50 จุด    

▪ ฝั่งไทย – นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงสินค้ากลุ่ม Semiconductor ที่ฟื้นตัวตามวัฏจักรของ Semiconductor ซึ่งกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ทำให้โดยรวมยอดการส่งออกเดือนพฤศจิกายนอาจขยายตัวได้ +5%y/y ส่วนยอดการนำเข้าก็อาจขยายตัวราว +3%y/y 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหว Sideway ไม่ห่างจากระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้าเงินบาทสิ้นปีของเรา ไปมากนัก แต่ยังคงต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ หลังโฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้ อนึ่ง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังเป็นฝั่งขายสุทธิได้ แต่แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าพอสมควร 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาดหรือบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นหลังการประมูล เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี แม้ว่าปริมาณธุรกรรมในตลาดการเงินจะน้อยลงชัดเจน ทว่าควรระวังความผันผวนในช่วงดังกล่าว โดยในอดีตที่ผ่านมา ค่าเงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างได้ โดยเฉพาะในช่วงวันทำการสุดท้ายของปี มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.35-34.85 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

 

#ค่าเงินบาท #ตลาดเงินตลาดทุน #ดอกเบี้ย #เงินเฟ้อ #พูนพานิชพิบูลย์ #ตลาดเงินตลาดทุน #KrungthaiGLOBALMARKETS #ธนาคารกรุงไทย