ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน พร้อมสื่อมวลชน  อ.ปลวกแดงกว่า 200 คน ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมของจริง ศึกษาตรวจสอบข้อมูล ก่อนที่จะมาตั้งในพื้นที่ 

สืบเนื่องจากการประชุมประจำเดือนของอำเภอปลวกแดงในเดือนธันวาคม 2566 นายสกนธ์ กรกฎ นอภ.ปลวกแดง ได้เปิดให้ทางบริษัท เดอะพราว พาวเวอร์ จำกัด และ บริษัท มีขวัญ พาวเวอร์ จำกัด เจ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ อ.ปลวกแดงที่จะมาตั้งโรงไฟฟ้าขยะเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม ในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ได้ชี้แจงข้อมูลต่อกำนันผู้ใหญ่บ้านรับทราบ และมีข้อเสนอในที่ประชุม ให้พากำนันผู้ใหญ่และผู้นำชุมชนชาวบ้านที่กังวลใจต่อผลกระทบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม โดยไปศึกษาดูงานตรวจสอบข้อมูลข้อกังวลใจต่างๆเพื่อความเข้าใจและ ความเชื่อมั่นต่อโครงการฯ ก่อนที่ในวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา จะได้มีการนำคณะผู้นำชุมชนชาวบ้านและสื่อมวลชนกว่า 200 คน ไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม บริษัทรีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด อ.นครหลวง จ.อยุธยา

ซึ่งการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่ามีการใช้เชื้อเพลิงเป็นเพียงเฉพาะเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ได้แก่ เศษกระดาษ เศษไม้ เศษผ้า เศษยาง เศษหนัง และพลาสติก ซึ่งไม่ใช่ขยะจากครัวเรือน หรือขยะพิษ หรือขยะอิเลคทรอนิกส์แต่อย่างใด และมีการตรวจสอบแหล่งที่มาและจำนวนควบคุมโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งกรรมวิธีมีการคัดแยกเศษวัสดุที่สับหรือตัดให้ละเอียดก่อนอัดก้อนควบคุมความชื้นไม่เกิน 30% เทคโนโลยีที่มาตรฐานผลิตกระแสไฟฟ้าใช้การเผาไหม้ไปต้มน้ำเป็นไอน้ำปั่นไดนาโมกำเนิดกระแสไฟฟ้า ข้อสำคัญในการเผาไหม้จะเผาที่ความร้อน 850 -1,100 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ โดยจะไม่เกิดควัน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถควบคุมการเกิดสารไดออกซิน (Dioxin) และ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ได้ 99.99 เปอร์เซ็น มีระบบกรองฝุ่นละอองที่ละเอียดถึง PM 2.5 ป้องกันฝุ่นละอองที่อาจจะเกิดขึ้น และมีการกำกับตรวจสอบของหน่วยงานกำกับกรมควบคุมมลพิษ โดยมีการติดตั้งระบบ CEMs ในการตรวจวัดสารต่างๆ ที่ปล่อยออกจากปล่องของโรงไฟฟ้าตลอดเวลา(แบบเรียลไทม์) เพื่อตรวจวัดปริมาณมลสารทางอากาศ 24 ชม. จึงสามารถควบคุมมลสารทางอากาศได้ (เช่น ค่า Nox,SOx,TSP,HCI และสารไดออกซิน ) ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด  โรงไฟฟ้าฯจะน้ำประปาที่สะอาดจากนิคมอุตสาหกรรมฯ และยังนำมากรองผ่านระบบ RO และดึงแร่ธาตุในน้ำออกให้บริสุทธิ์ จึงจะเหมาะสมนำไปต้มในการผลิตไฟฟ้าฯ

ส่วนน้ำที่เหลือจากกระบวนการผลิตจะถูกหมุนเวียนใช้ในระบบต่อไป จะไม่มีการปล่อยน้ำที่ผ่านระบบออกสู่นอกโรงงานไฟฟ้า ส่วนเถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้ เป็นขี้เถ้าที่ไม่มีสารพิษเจือปน และกฎหมายกำหนดให้ทางบริษัทฯ นำไปกำจัดยังหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด ที่จังหวัดสระบุรี  จะไม่มีกากขยะขี้เถ้าเหลือในพื้นที่เลย โดยมีวิศวกรตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมศึกษาดูงาน และมีการเข้าชมกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนด้วย ส่วนประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะมีส่วนเพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างรายได้ในกับชุมชนและสร้างความเจริญให้กับคนในพื้นที่กว่า 80% และยังเสียภาษีบำรุงพื้นที่ โดยเฉพาะภาษีโรงเรือนให้กับท้องถิ่นได้พัฒนาพื้นที่ของตนเอง และที่สำคัญยังมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโดยทางบริษัทฯ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (อัตราตามกฎหมายกำหนด) ช่วงก่อสร้างเกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและมีโอกาสในการจ้างงานลูกหลานในพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของจังหวัดและประเทศด้วย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศต่อไป.

​​​​​​​ ​​​​​​​