ลีลาชีวิต /  ทวี สุรฤทธิกุล

ความขัดแย้งของคนต่างภพ “รุ่นเก่า - รุ่นใหม่” คือประเด็นที่อยู่คู่โลกมาทุกยุคสมัย

คดีของชนินทรถูกตัดสินในปีต่อมา ผมแนะนำคุณแดงว่าให้ลูกของเธอยอมรับสารภาพว่าได้แชร์ข้อความ “อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” จริง แต่ทำไปโดยไม่ได้มีเจตนา รวมถึงให้ทนายความอธิบายต่อศาลถึงสาเหตุการก่อเหตุอย่างที่คุณหมอเพื่อนของคุณแดงอธิบายให้ฟัง เพื่อให้ศาลพิจารณาในเรื่องของการถูกโน้มน้าว หรือเป็น “เหยื่อ” ในระบบการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ อันแสดงว่าไม่ได้เป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลย เพื่อให้ได้รับโทษเบาลง โชคดีที่ชนินทรยอมรับและเชื่อฟัง ที่สุดศาลพิพากษายกฟ้องพร้อมกับจำเลยอื่น ๆ อีก 20 กว่าคน เพราะเพียงแค่แชร์ต่อ ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อความ ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีเจตนา แต่ถูกชักจูงจากผู้อื่น ทั้งนี้โดยมีหลักฐานว่าไม่เคยกระทำการแบบนี้มาก่อน ทั้งยังมีความจงรักภักดีจากประวัติการทำงานและการศึกษาของแต่ละคนนั้นด้วย

คุณแดงพาชนินทรมากราบขอบคุณผมในเดือนต่อมา หลังจากนั้นผมก็เสนองานผู้ช่วยวิจัยชิ้นหนึ่ง โดยเป็นโครงการเกี่ยวกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นผมตั้งใจจะทำให้กับสถาบันคึกฤทธิ์ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่ได้รับจัดสรร จึงระงับโครงการไป) ซึ่งชนินทรก็ตอบตกลง เราได้คุยกันหลายครั้งระหว่างเตรียมโครงการ โดยผมมอบหมายให้ชนินทรไปค้นข้อมูลบางเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงผมต้องการจะให้ชนินทรได้มีมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีผลพลอยได้ที่ทำให้ผมได้คุยกับชนินทรอย่างสนิทสนม ในอีกหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องชีวิตของวัยรุ่นสมัยใหม่กับมุมมองในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมืองและสังคม ซึ่งผมในฐานะ “คนรุ่นเก่า” ก็ได้เข้าใจมุมมองและชีวิตของ “คนรุ่นใหม่” แบบชนินทรนั้นมากขึ้น

พอสนิทกันชนินทรก็เรียกผมว่า “คุณลุงอาจารย์” หรือ “คุณลุง” เฉย ๆ พอถึงขั้นนี้ผมก็ถามชนินทรตรง ๆ ในวันหนึ่งว่า ทำไมจึงไปเข้ากลุ่มกับพวกชังเจ้าเหล่านั้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้ไปเข้ากลุ่มเฉพาะกลุ่มนั้น ความจริงมีอีก 3-4 กลุ่มที่เขาชอบเข้าไปอ่านไปคอมเม้นต์ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แรง ๆ เหมือนกับเพจที่เขาถูกดำเนินคดีและขึ้นศาล ที่เข้าไปอ่านเพจนี้เพราะมีบุคคลที่มีชื่อเสียงและอาจารย์ชื่อดังเข้าไปโพสต์ข้อความต่าง ๆ อยู่ประจำ (โดยที่บุคคลเหล่านั้นก็ถูกแจ้งความดำเนินคดี แต่พอขึ้นศาลก็ขอประกันตัวและหนีออกนอกประเทศไป ซึ่งคดีก็ยังอยู่ในศาล) โดยมีการตั้งประเด็นว่า “สถาบันใดล้าสมัยที่สุดของประเทศไทย” โชคดีที่เขาไม่ได้แสดงความเห็นอะไร เพียงแต่กดไลก์และแชร์ข้อความไปโดย “ไม่ได้ตั้งใจ” เพียงแต่อยากมีส่วนร่วมและแสดงออกเล็ก ๆ น้อย ๆ (ความจริงมีคนอยู่ในเพจและกดไลก์กดแชร์นับเป็นพัน ๆ คน แต่ตำรวจแจ้งจับและส่งขึ้นศาลเพียง 20 กว่าคน อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาลท่านพิจารณายกฟ้อง เพราะไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหาของตำรวจและตามคำสั่งฟ้องของอัยการ ที่บอกว่าจำเลย 20 กว่าคนนี้ “ร่วมกัน” แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เพราะทุกคนก็ไม่รู้จักกันและกัน ต่างคนก็เหมือนกับผู้ชมทางสื่อแล้วแสดงความรู้สึกออกไปตามที่สื่อนั้นโน้มน้าว คนที่ผิดจึงหมายถึงคนที่ “ก่อการ” หรือโพสต์ข้อความต่าง ๆ นั้นเป็นหลัก) ซึ่งผมก็ถามต่อไปว่าทำไมจึงเชื่อพวกคนดังที่โพสต์ข้อความเหล่านั้น ข้อความเหล่านั้นเป็นอย่างไรหรือ

ชนินทรเล่าว่า เพจนั้นนำเสนอเรื่องการแย่งชิงอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับบรรยายถึงความอยู่เหนือชีวิตของคนไทยทั้งปวง และบรรยายเน้นย้ำเหตุการณ์ในคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งพระมหากษัตริย์พยายามที่จะกลับคืนสู่อำนาจ โดยชี้ให้เห็นว่าที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยและมีการรัฐประหารโดยทหารครั้งแล้วครั้งเล่าก็เพราะเหตุนี้ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะมีทหารค้ำจุนและข้าราชการทำงานให้ ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็น “รัฐอำมาตย์” ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับทหารและข้าราชการนั่นเอง ซ้ำร้ายก็ไม่ยอมให้ประชาธิปไตยได้เติบโต อย่างที่ในการรัฐประหารในทุกครั้งก็จะกล่าวถึงความเลวร้ายของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเกิดจากการทะเลาะเบาะแว้งของประชาชนที่เป็นฟากฝ่ายของนักการเมืองแต่ละพรรคแต่ละพวกนั้น

เพจนั้นได้ยกตัวอย่างของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่มีตำนานร่ำลือเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิต รวมถึงความประพฤติทางเพศที่กระทำต่อสตรี การเล่าถึงยุคสมัยที่ปล่อยให้ทหารและข้าราชการโกงกิน โดยที่พระมหากษัตริย์ก็เหมือนจะไม่เอาเป็นธุระเพราะต้องพึ่งพิงทหารและข้าราชการดังกล่าว ในขณะเดียวกันทหารและข้าราชการก็ “แอบอ้าง” พระมหากษัตริย์เพื่อสนับสนุนและปกป้องการคอร์รัปชั่นของตน กลายเป็นว่าความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นเพราะประเทศไทยยังคงอยู่ในระบอบกษัตริย์นี้

ยิ่งไปกว่านั้นเพจนี้ยังพูดถึงพวกฝ่ายอนุรักษ์ที่ยังยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ว่าคือพวกที่กำลังจะทำลายประเทศไทยด้วยอีกเหมือนกัน เพราะพวกนี้ก็ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน เช่น พอทหารขึ้นมาปกครองก็อยากให้ทหารอยู่ปกครองไปนาน ๆ ดังที่เห็นอยู่ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพวกเซเลบที่เป็นผู้นำความคิดในเพจนี้ พยายามจะบอกว่าพวกคนหัวเก่า “รุ่นพ่อแม่ของเรา” นั่นแหละที่ส่งเสริมความคิดนี้ เพราะไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมามีอำนาจ โดยโจมตีว่าพวกคนรุ่นใหม่มีแนวความคิดแบบสาธารณรัฐ “ไม่เอากษัตริย์” รวมถึงที่พวกคนรุ่นพ่อแม่ของเรานี้ยังรังเกียจพรรคการเมืองและนักการเมืองในแนวประชาธิปไตยที่เป็นคนรุ่นใหม่ ว่าไร้ประสบการณ์และจะนำไปเทศไทยไปสู่หายนะ

สิ่งที่ผมฟังจากชนินทร์และเมื่อประกอบรวมเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ผมนำมาประกอบเข้ากับประสบการณ์ของตัวเอง ทำให้ผมพอจะมองเห็นว่าเรื่องทั้งหมดนั้นเป็นด้วยปัญหาของเรื่อง “ต่างวัย ต่างยุค ต่างความคิด” ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อ ความคิด ทัศนคติ พฤติกรรม และการกระทำของผู้คนเปลี่ยนไป

ผมคือคนที่มีอายุ 60 กว่า ๆ พ่อแม่เป็นข้าราชการ ได้รับการศึกษามาในยุคของการท่องจำและทำข้อสอบให้ได้ การแข่งขันกันเข้ามหาวิทยาลัย การใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมตะวันตก มีสื่อหลักคือวิทยุกับโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ในช่วงมัธยมได้เจอเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพอเข้ามหาวิทยาลัยก็เจอ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเทียบกับชนินทรที่อายุย่าง 30 แม้พ่อแม่จะเป็นข้าราชการ แต่การศึกษาได้ให้อิสระแก่ผู้เรียนมากขึ้น ชีวิตผู้คนเป็นแบบที่เรียกว่า “มุ่งความเป็นสากลและทันสมัย” แบบที่ฝรั่งเรียกว่า Cosmopolitan มีสื่อหลักเป็นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองมากว่าครึ่งชีวิต ภายใต้ระบอบทักษิณและอำมาตยาธิปไตยนั้น แต่ที่เป็นปัญหาระหว่างคนทั้งสองรุ่นนี้ก็คือ “การสื่อสาร” ที่แยกกันอยู่ ไม่พูดคุยกัน ที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในบ้านหรือครอบครัว ที่พ่อกับแม่และลูกไม่คุยกัน แต่รวมถึงในสังคมภายนอกที่แยกกันคุยแยกกันคิดนั้นด้วย

บางทีเราอาจจะต้องมีระบบการสื่อสารที่สามารถให้ข่าวสารได้อย่างเปิดกว้าง เพื่อเข้าไปแทรกในระหว่างการสื่อสารเฉพาะกลุ่มอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งในสมัยก่อนเราเรียกว่า “สื่อสารมวลชน” อย่างที่เราเคยใช้วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบันเรามีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็เป็นสื่อที่กว้างใหญ่และรวดเร็วมาก ๆ ทว่ามันกลับก่อให้เกิดปัญหาเพราะถูกนำไปใช้เป็นเรื่องของการสื่อสารเฉพาะกลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นก่อนที่จะสามารถหาวิธีให้การสื่อสารสมัยใหม่นี้เปิดออกให้โปร่งใส ก็อาจจำเป็นจะต้องใช้ “สื่อบุคคล” คือตัวคนแต่ละคนนี่แหละ สื่อสารกันให้มากขึ้น เช่นมีกิจกรรมระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ก็ต้องมีการสื่อสารที่เปิดกว้างและสนิทสนมกันมากขึ้นกว่านี้

เมื่อการสื่อสารกว้างแต่โลกยิ่งแคบ ก็ต้องไปทำให้การสื่อสารสนิทสนมกันมากขึ้น เพื่อให้โลกของแต่ละคนนั้นใกล้กันยิ่งขึ้น