หอการค้าฯชง กกร.หนุนสางหนี้ทั้งใน-นอกระบบ หลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง 16 ล้านล้านบาท มากกว่า 90% ของ GDP เร่งแก้ก่อนทุบ ศก.พัง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย วานนี้ (19 ธ.ค.) ได้รับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบของภาครัฐ จากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ หอการค้าไทย เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งในส่วนของหอการค้าไทย และเครือข่ายพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาล และจะนำประเด็นดังกล่าว ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้มีศักยภาพในการชำระหนี้ และมีเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

นายกิตติรัตน์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวถึงมูลหนี้ทั้งหมดในระบบของประเทศไทย ครอบคลุมหนี้ครัวเรือนจำนวน 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 90% ของ GDP โดยในส่วนของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะพบว่ามีมูลหนี้อยู่ประมาณ 13.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย หนี้บ้าน 4.9 ล้านล้านบาท หนี้เช่าซื้อ 2.6 ล้านล้านบาท หนี้บัตรเครดิต 5.4 แสนล้านบาท หนี้ส่วนบุคคล 2.5 ล้านล้านบาท หนี้เกษตร 8.7 แสนล้านบาท หนี้พาณิชย์ 6.7 แสนล้านบาท และหนี้อื่นๆ 1.3 ล้านล้านบาท รวมลูกหนี้ทั้งหมดจำนวน 100 ล้านบัญชี ซึ่งในทั้งหมดนี้เป็นหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 1 ล้านล้านบาท

ส่วนมูลหนี้ที่เหลืออีก 2.5 ล้านล้านบาทประกอบด้วย หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยหนี้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ บางส่วนได้รับการแก้ไข และมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้คงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกันจากการติดตามปัญหาหนี้นอกระบบ เชื่อว่ามีจำนวนมูลหนี้อยู่อีกไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ การปล่อยกู้เกินกว่า 15% ต่อปี หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยการจัดการหนี้นอกระบบจะเป็นไปตามกระบวนกฎหมาย ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย และนำไปสู่ข้อยุติ โดยเจ้าหนี้สามารถจดทะเบียนใบอนุญาตปล่อยสินเชื่อเข้าในระบบที่ถูกต้องได้ เช่น นาโนไฟแนนซ์ หรือพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น

โดยภาวะหนี้สินทั้งประเทศที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องอันตรายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้ทั้งระบบอย่างสุดความสามารถ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 1% ที่ลดลงจะช่วยรักษาสถานภาพของผู้กู้จำนวนหนึ่งให้ไม่เข้าสู่การเป็นหนี้ NPL สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินในการช่วยกันหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม หรือเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ก่อน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบเกิดผลสำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจสามารถมีส่วนสนับสนุนแนวทางดังกล่าวได้ด้วย เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มพนักงานหรือภายในบริษัทที่กำกับ ทำให้ภาระหนี้ของพนักงานลดลง เป็นต้น

 

#หอการค้า #เอสเอ็มอี #หนี้ครัวเรือน