วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมห้องเรียนปลอดฝุ่น ระดับดีเลิศ ห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. ที่โรงเรียนวัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด
นายศานนท์ กล่าวว่า โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นมีความสำคัญ กทม.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย นักวิชาการ และหน่วยงานต่าง ๆ สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กสร้างการเรียนรู้ต่อไปถึงครอบครัวและชุมชน ตามโครงงานในสาขาวิชา 8 กลุ่มสาระ ซึ่งโรงเรียนวัดวิมุตยาราม เป็นโรงเรียนต้นแบบแห่งหนึ่งจากทั้งหมด 32 โรงเรียนต้นแบบสังกัด กทม. และมีอีก 1 โรงเรียนต้นแบบนอกสังกัด กทม. รวมทั้งหมดมีโรงเรียนต้นแบบ 33 แห่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น และมีแผนขยายให้ครบ 437 โรงเรียนสังกัด กทม.ในปี 2566 โดยมี สสส.สนับสนุนเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 และ PM10
สำหรับโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นมีแผนเริ่มที่ชั้นอนุบาล 1,743 ห้อง ดำเนินการแล้วกว่า 750 ห้อง (46%) โดยการใช้งบประมาณของ กทม.ในการปรับปรุงห้องให้มิดชิดเพื่อติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ส่วนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศอาศัยการสนับสนุนจากภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบ CSR
นายชัชชาติ กล่าวว่า การพัฒนาส่วนใหญ่ กทม.เน้นที่โรงเรียนเป็นหลัก เช่น เรื่องการแยกขยะ การป้องกันฝุ่น PM2.5 เชื่อว่าการพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องเริ่มที่คน เร่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสังกัด กทม.ให้ทัดเทียมเอกชน โดยเฉพาะเป้าหมายโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติที่วัดทักษะและความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (คะแนนสอบ PISA: Programme for International Student Assessment) นักเรียนสังกัด กทม.ต้องมีคะแนนตามมาตรฐานการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD: The Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ตัวเลขการชี้วัดมาตรฐานด้านต่าง ๆ มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สามารถดึงดูดคนเข้าประเทศได้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข กทม.ให้ความสำคัญ เชื่อว่าสามารถพัฒนาคนให้พ้นวงจรโง่ จน เจ็บ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้