พ.ศ. 2566 ครบรอบ 41 ปี ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาดำเนินการจนเกิดเป็นผลสำเร็จและที่ประจักษ์ชัดเจน ขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบชลประทาน การปลูกพืชเศรษฐกิจ การฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศวิทยาของป่า การปรับปรุงบำรุงดิน และการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ การประมง เป็นการสร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียงให้แก่ผู้คนในพื้นที่ภาคอีสานอย่างยั่งยืน
นายแก้วไสย พันธุลา เกษตรกรเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร หนึ่งในเกษตรกรผู้รับประโยชน์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย และทำการเกษตรแบบครัวเรือน จำนวน 13 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลรอบบ้าน 3 ไร่ ได้แก่ มะขามหวาน มะขามเปรี้ยว มะม่วง และกระท้อน นาข้าว 7 ไร่ ยางพารา 2 ไร่ โดยในสวนยางพาราได้เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ได้แก่ โคพื้นเมือง สุกรดำภูพาน และไก่พื้นเมือง ส่วนพื้นที่อีก 1 ไร่ 2 งาน เป็นสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและเลี้ยงปลา บริเวณขอบสระปลูกมะพร้าว ตะไคร้ หม่อนกินผล มะละกอ มะนาว และพืชผักสวนครัว ทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิตทั้งแบบรายวัน รายเดือนและรายปี มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงในอาชีพ
“ปลูกผักไว้กินในครอบครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงหมู เอารายได้จากการขายยางพาราไปซื้อหัวอาหารให้หมู เป็นทุนหมุนเวียน ขี้วัวใส่พืชผัก ใบไม้เป็นปุ๋ย รวมไปถึงปุ๋ยหมักขี้ไก่ ทำการเกษตรมีความมั่นคงในชีวิต ตื่นมาไม่ต้องไปซื้อผัก เพราะมีในแปลงในสวน ทั้งพริก ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า และผักต่างๆ ไม่ต้องไปซื้อ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้จัดตั้งขึ้นมา ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีที่พึ่งในการทำกินได้เป็นอย่างดีและต่อเนื่อง ศูนย์ศึกษามีองค์ความรู้หลากหลายเกี่ยวกับการทำกิน ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา” นายแก้วไสย พันธุลา กล่าว
ด้าน นางเกศนี ชุมปัญญา เกษตรกรบ้านหนองปลาดุก ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านหนองปลาดุก ได้รับการสนับสนุนให้รวมกลุ่มผลิต แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ กล่าวว่า มีการรวมกลุ่มปลูกผักปลอดภัยเพื่อจำหน่าย พร้อมทั้งปลูกข้าวเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพภายในกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน จะปลูกผักตามฤดูกาล เช่น กวางตุ้ง กะเพรา มะเขือพวง ต้นหอม ผักชี หมุนเวียนตามรอบการผลิต ทำให้มีผลผลิตนำออกจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง และตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรือง ที่จะตัดดอกส่งกลุ่มร้อยมาลัย ทำให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง
“ได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในด้านการผลิต การดูแลรักษา การให้ปุ๋ย และการตลาด โดยเฉพาะวิธีการปลูกแบบปลอดสารพิษที่ได้รับการถ่ายทอดจากศูนย์ ส่งเสริมใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี สามารถเก็บผลผลิตได้ทันทีเพราะไม่มีสารเคมีตกค้าง โดยสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ผลิตจากธรรมชาติ เช่น ใบสะเดา รวมทั้งมีการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มาในการกำจัดศัตรูพืช และมีการใช้ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานที่หมักจากปุ๋ยคอก ผักตบชวา จอกแหน ใบไม้แห้งในสวน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มสัดส่วนกำไร ต้องขอขอบคุณโครงการดีๆ ของพ่อหลวง และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่มาส่งเสริมช่วยเหลือให้ความรู้แก่เกษตรกรได้ทำกินอย่างถูกวิธี มีผลผลิตดีมีคุณภาพ มีรายได้ต่อเนื่องไม่ขัดสน” นางเกศนี ชุมปัญญา กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และจังหวัดสกลนคร จัดงาน “41 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” ขึ้น โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงาน นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานภาพรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในห้วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และบริบทของตนเองต่อไป