หอการค้าฯดันข้อเสนอเอกชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฝากรัฐทบทวน-ขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมรับฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จากเหตุการณ์ความไม่สงบและจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง ที่มีวัตถุประสงค์เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ในรูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยให้ดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 1.5 ต่อปี และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในวงเงินกู้ทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตามมติ ครม. และจะต้องชำระเงินกู้มทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 (แตกต่างกันตามวงเงินที่ได้รับ) ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหามายังหอการค้าไทยว่าผู้ประกอบการที่ได้รับวงเงินสินเชื่ออยู่ในปัจจุบันจำนวนมาก อาจไม่สามารถเตรียมพร้อมในการชำระเงินคืนได้ทัน ส่งผลให้มีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 2-3 เท่าทันที
โดยจากการประเมินพบว่ามีผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว (ณ วันที่ 31 ธ.ค.65) ประมาณ 4,890 ราย รวมวงเงิน 20,872 ล้านบาท จากวงเงินโครงการทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินในวงเงินที่ไม่มากและอยู่ภายใต้กรอบเดิมที่ตั้งไว้ หากเทียบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดนี้ได้ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานการณ์หนี้เสีย (NPL) และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในพื้นที่
ทั้งนี้จากการหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับหอการค้าไทยได้มีการส่งข้อเสนอเปิดผนึกไปถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ในวันที่ 19 ธ.ค. เพื่อพิจารณาทบทวนแนวทางการช่วยเหลือดังนี้ 1.ข้อเสนอระยะเร่งด่วน – ขอให้ ครม. มีมติพิจารณาชะลอนโยบายการชำระสินเชื่อเพื่อลดวงเงินกู้ยืมทั้งในส่วนของวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 และวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67 ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ประกอบการ ผ่านคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนใต้ (สินเชื่อ Soft Loan) ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน และภาคเอกชนในพื้นที่
2.ขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนขยายระยะเวลาชำระหนี้ทั้งหมดจากภายในปี 68 เป็น ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2570 โดยระหว่างนี้ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการร่วมกันหารือ เพื่อวางแผนการชำระหนี้ และเจรจาปรับอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงที่เห็นพ้องกันทั้งสองฝ่าย ต่อไป
ทั้งนี้ หอการค้าไทยเชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยเติมทุนและขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและสถาบันการเงินในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าธุรกิจ และสร้างการจ้างงานในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้นด้วยด้วย
หมายเหตุ : ครม. มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 (ก่อนยุบสภา) พิจารณาทบทวน มติ ครม. 20 ธันวาคม 2565 ตามข้อเสนอเพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของผู้ประกอบการในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยงต่ำตามมาตรการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนใต้ (สินเชื่อ Soft Loan) และได้การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้ 1.ผู้เข้าร่วมโครงการ ที่มีวงเงินกู้เกินกว่า 50 ล้านบาท ต้องลดลงให้เหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท ภายใน 31 ธันวาคม 2566 2.ผู้เข้าร่วมโครงการ ที่มีวงเงินกู้เกินกว่า 20 ล้านบาท ต้องลดลงให้เหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายใน 31 ธันวาคม 2567 3.ผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด ชำระคืนเงินกู้ทั้งหมด ภายใน 30 มิถุนายน 2568