จ.บุรีรัมย์ เตรียมจัดงาน “มหกรรมว่าวอีสาน นอนดูดาวชมว่าวกลางคืน” โต้ลมหนาว 22-24 ธ.ค.นี้ ชมการแข่งขันว่าว แอกโบราณและว่าวแอกพัฒนา แข่งขันแกว่งแอก สาธิตการทำว่าว  การประกวดว่าวยักษ์ จำลองวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิม นอนดูดาว ชมว่าว ฟังเสียงว่าวแอกกลางคืน เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด

              

วันนี้ (19 ธ.ค.66) จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับอำเภอห้วยราช สนง.วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ สภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ สนง.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ สนง.พัฒนาชุมชน และ ชมรมว่าวห้วยราช เตรียมจัดงานประเพณีมหกรรมว่าวอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ครั้งที่ 34 ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ นอนดูดาว ชมว่าวกลางคืน” ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 22-24 ธ.ค.66 นี้ ณ บริเวณสนามแข่งว่าวอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ (ข้างมหาวิทยาลัยรามคำแหงฯ จังหวัดบุรีรัมย์) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในเขตพื้นที่จังหวัดเพิ่มมากขึ้นด้วย       
              

โดยภายในงาน พบกับกิจกรรมสืบทอดภูมิปัญญา และอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ได้แก่ การแข่งขันว่าว แอกโบราณ และว่าวแอกพัฒนา , การแข่งขันแกว่งแอก , การประดิษฐ์ว่าวยุวชน , การสาธิตการทำว่าว , การประกวดว่าวยักษ์ พิธีทำขวัญข้าว ตัดกรรม สะเดาะเคราะห์และเสริมชะตาชีวิต การจำลองวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิม กลางคืนนอนดูดาว ชมว่าว ฟังเสียงว่าวแอก การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านของลูกหลานชาวอำเภอห้วยราช และการแสดงดนตรีศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้
              

นอกจากนี้ ยังจะได้เลือกซื้อสินค้าของดีและ OTOP ประจำตำบลอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ก็ได้เริ่มประดิษฐ์ว่าวเตรียมเข้าร่วมแข่งขันภายในงานดังกล่าวคึกคักแล้ว  อีกทั้ง ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการแข่งขันว่าวแอกโบราณและว่าวแอกพัฒนาให้เป็นกีฬาทางอากาศที่ได้มาตรฐาน 

             

ทั้งนี้ งานประเพณีมหกรรมว่าวอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน สำหรับการเล่นว่าวของคนอีสานส่วนมากจะแฝงไว้กับจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะเรื่องการบวงสรวง หรือเสี่ยงทาย ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเชื่อว่าหากปีใดว่าวขึ้นสูงติดลมบนตลอดทั้งคืนจะพยากรณ์ว่าปีหน้าฟ้าฝนดี ข้าวปลาอาหาร สมบูรณ์       
              

ส่วนชาวท้องถิ่นไทยเขมร เชื่อกันว่าการชักว่าวขึ้นให้ติดลมบน และเสียงของแอกที่ดังโหยหวนเป็นการสร้างกรรม เมื่อเลิกเล่นจึงนิยมตัดว่าวทิ้ง ถือว่าเป็นการตัดเวรตัดกรรมออกไปและสะเดาะเคราะห์ โดยจะผูกข้าวปลาอาหารให้ล่องลอยไปกับตัวว่าวด้วย