คกก.ชุดอนุทิน ออก 3 มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ขู่ดำเนินคดีอาญาเจ้าหนี้ดอกโหด เผย 17 วัน ลูกหนี้แห่ลงทะเบียน 99,484ราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,926 ล้านบาท ด้านปลัด มท.เผย กทม.ลูกหนี้ลงทะเบียนมากสุด  

    
 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กล่าวถึงคนที่ลงทะเบียนที่ใช้ดอกเบี้ยท่วมเงินต้นไปแล้วต้องมีการเจรจากัน ว่า ถ้าจ่ายแล้วหลายรอบยังไม่ยอมปลดหนี้ ยังทบต้นเป็นสิบๆ รอบก็ต้องจบ ถ้าไม่จบดอกเบี้ยที่คิดเกินไป ภาษีที่ไม่ได้จ่าย โดนเบี้ยปรับมากกว่าเงินต้นหลายเท่า และจะมีความผิดทางอาญาด้วย
          
 สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้มอบหมายให้เฉพาะฝ่ายปกครองและตำรวจเข้ามาทำหน้าที่ดูแล แต่ยังได้ตั้งอัยการและกระทรวงการคลังเข้ามาด้วย เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายต่างๆ เข้าไปจัดการดูแล พยายามดูว่าจะดึงหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้อย่างไร และสถาบันการเงินของรัฐจะช่วยเหลืออย่างไร ต้องทำภาพรวมให้ดีที่สุด
           
 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กำหนดมาตรการช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เชิญหน้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ความเห็น หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 
   
  นอกจากนี้คณะกรรมการฯ เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 3 ด้าน  ประกอบด้วย 1.ด้านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยมีกรมการปกครองเป็นเจ้าภาพหลัก และมีสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมสนับสนุน โดยนับแต่เริ่มเปิดลงทะเบียนจนถึง 18 ธ.ค.66 (เวลา 11.30 น.) ปรากฏว่ามีลูกหนี้มาลงทะเบียนแล้ว 99,484ราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,926 ล้านบาท โดยในระหว่างการลงทะเบียนดังกล่าวก็มีการเชิญเจ้าหนี้ลูกหนี้มาทำการไกล่เกลี่ยโดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับตำรวจและพนักงานอัยการ โดยทางเจ้าหนี้-ลูกหนี้สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ก็จะมีการทำบันทึกประนีประนอมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 20 ราย
        
  2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้ายลูกหนี้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้ง เรียกเจ้าหนี้มาทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย
        
  3.ด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จะมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐในการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อยและอาจมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ตามสาเหตุแห่งการเป็นหนี้ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน  เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนด้าน การหาอาชีพเสริม สนับสนุนปัจจัยการผลิต
       
  นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตัวชี้วัดการดำเนินการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ตัวชี้วัดการไกล่เกลี่ยของกรมการปกครอง กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อย 80% ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า 50% ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมด 70% ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการหากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน  ส่วนของด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจะต้องได้รับการให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ 70% ของผู้ลงทะเบียน
    
 ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 17 จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,210 ราย เจ้าหนี้ 5,093 ราย มูลหนี้ 491.003 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,234 ราย เจ้าหนี้ 3,380 ราย มูลหนี้ 256.164 ล้านบาท จ.สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,907 ราย เจ้าหนี้ 2,733 ราย มูลหนี้ 242.895 ล้านบาท จ.นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,836 ราย เจ้าหนี้ 2,392 ราย มูลหนี้ 281.977 ล้านบาท และจ.ขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,571 ราย เจ้าหนี้ 2,019 ราย มูลหนี้ 185.921 ล้านบาท 
    
 ส่วนจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 131 ราย เจ้าหนี้ 85 ราย มูลหนี้ 5.344 ล้านบาท จ.ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 203 ราย เจ้าหนี้ 127 ราย มูลหนี้ 14.072 ล้านบาท จ.สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 262 ราย เจ้าหนี้ 180 ราย มูลหนี้ 8.367 ล้านบาท จ.ตราด มีผู้ลงทะเบียน 331 ราย เจ้าหนี้ 197 ราย มูลหนี้ 10.237 ล้านบาท และจ.สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 361 ราย เจ้าหนี้ 238 ราย มูลหนี้ 13.679 ล้านบาท