นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างเสนอมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งในและนอกระบบ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อช่วยเหลือผ่อนปรนภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ในระบบให้สอดคล้องกับศักยภาพการหารายได้ และผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งช่วยเหลือให้ลูกหนี้นอกระบบ สามารถกลับเข้ามาในระบบได้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ในระบบกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีก

ปัจจุบัน ปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งผลให้ลูกหนี้ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกหนี้ จากปัญหาการใช้ความรุนแรงในการทวงถามหนี้ จึงทำให้ต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรม และนำไปสู่การเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพและฟื้นฟูรายได้ให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ

นายพรชัย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานในวันนี้ กระทรวงการคลัง ได้เสนอกลไกการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้มีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ด้านการเจรจาประนอมหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้านการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อชำระหนี้นอกระบบ และด้านการหาอาชีพเสริมเพื่อช่วยฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ ซึ่งกระทรวงการคลัง จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือดูแลลูกหนี้นอกระบบ ให้เข้ามาเป็นลูกหนี้ในระบบ เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ได้แก่

1. การส่งเสริมให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

โดยการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ให้กับลูกหนี้ที่เคยเป็นหนี้นอกระบบ ให้ได้รับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้เริ่มให้ใบอนุญาตสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ตั้งแต่ธ.ค.59 ทำให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบด้วยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ไม่ถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด รวมถึงเผชิญกับพฤติกรรมการข่มขู่ ทวงหนี้โหด

ทั้งนี้ สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบ หากต้องการจะประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังได้ โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สายด่วน 1359)

นอกจากสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนด้านสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกหนี้นอกระบบ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้เช่นกัน โดยโครงการเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน และมีระยะเวลาการให้กู้ที่นาน เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการผ่อนชำระของลูกหนี้  

2. การป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำอีก

โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้จัดให้มีจุดบริการให้คำปรึกษาหนี้นอกระบบที่สาขาทั่วประเทศ เพื่อเดินหน้าแก้ไขและป้องกันหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2569 เพื่อให้ยกระดับความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนให้สามารถบริหารจัดการเงินอย่างได้มีประสิทธิภาพ และมีวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก

3. การพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพและการหารายได้ของลูกหนี้

โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีโครงการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ เช่น การฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเน้นการวางแผนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างรายได้จากกิจกรรมใหม่ รวมทั้งการพัฒนาอาชีพเดิมโดยการเพิ่มผลผลิต โครงการปั้นงาน ปั้นเงิน และหลักสูตรอบรม Online โดยธนาคารออมสินร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่ออบรมให้ความรู้ เสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ และยกระดับรายได้ให้กับผู้ประกอบการต่อไป