"อธิบดีสุพิศ" สั่งลุยทำฝนหลวงบรรเทาฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล พบฝนตกในพื้นที่นครนายก-ปทุมธานี และค่าฝุ่นพื้นที่ กทม. เช้านี้มีแนวโน้มดีขึ้น

วันที่ 18 ธ.ค.66 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 มีปริมาณค่าฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐานและเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.ระยอง ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็กให้กับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2566 เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคตะวันออกมีโอกาสเหมาะสมในการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเวลาดังกล่าว

อธิบดีฝนหลวงฯ กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติการฝนหลวงเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 บินปฏิบัติการด้วยเครื่องบินคาราแวน จำนวน 2 ลำ 2 เที่ยวบิน บริเวณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ถึง อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา หลังปฏิบัติการพบว่ากลุ่มเมฆในพื้นที่ที่ปฏิบัติการพัฒนาตัวหนาแน่นขึ้น ก่อยอดสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกบริเวณ จ.สมุทรปราการ ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง และยังได้กำชับให้ทางหน่วยฯ จ.ระยอง ติดตามสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวานนี้ (17 ธันวาคม 2566) มีการขึ้นบินปฏิบัติการด้วยเครื่องบินคาราแวน จำนวน 2 ลำ 2 เที่ยวบิน บริเวณ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถึง อ.ปากพลี จ.นครนายก หลังปฏิบัติการพบว่า ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก และ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี โดยการปฏิบัติการฝนหลวงทำให้มีเมฆและฝนที่เกิดจากฝนหลวงและฝนธรรมชาติเคลื่อนที่เข้าบริเวณกรุงเทพฯ ซึ่งช่วยดูดซับฝุ่น PM2.5 (Cloud scavenging) ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นในเช้านี้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ตามที่กรมควบคุมมลพิษได้รายงานค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล ไม่มีพื้นใดค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและแนวโน้มดีขึ้น

"อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการฝนหลวงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะต้องอาศัยทิศทางลมเป็นตัวกำหนดในการก่อเมฆ เพื่อให้ลมพัดพาเมฆเข้ามาในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหากลมมาจากทิศตะวันออกจะปฏิบัติการจากฐานที่ตั้ง จ.ระยอง หากลมมาจากทิศตะวันตก จะปฏิบัติการมาจากฐานที่ตั้ง จ.กาญจนบุรี และจะต้องบินในระยะห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง 70 ไมล์ ตามกฎการบินสากล รวมถึงระมัดระวังพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่กำลังเก็บเกี่ยวในฤดูนี้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังคงติดตามสภาพอากาศและข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองจากกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ฝนหลวงฯ จะวางแผนช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป" อธิบดีฝนหลวงฯ กล่าว